“ถึงแล้วบอกนิดหนึ่ง” ละครสะท้อนห้วงคำนึงถึงคนที่จากไป
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกทาง:
หนังสือพิมพ์มติชน (วันพุธที่ 6 เมษายน 2565)
เว็บไซต์มติชน (วันอังคารที่ 12 เมษายน 2565)
เสียงของการพูดคุยสารพันเรื่องราวที่เจือไปด้วยการหัวเราะ การทะเลาะเบาะแว้ง และความเหนื่อยหน่ายอันน่าชินชาในแต่ละวัน พลันเบาลงเมื่อสมาชิกในครอบครัวค่อยๆ เดินจากไปทีละคน จนในที่สุดก็เหลือเพียงความเงียบที่ได้ยินจากห้องที่ว่างเปล่า
“ถึงแล้วบอกนิดหนึ่ง (there, you go.)” เป็นการแสดงที่ถ่ายทอดความรู้สึกนี้ได้เป็นอย่างดี พร้อมสะท้อนให้เห็นว่าการลาจากไม่ว่าในรูปแบบใดย่อมส่งผลต่อคนที่ยังรออยู่ข้างหลัง โดยได้เชื้อเชิญผู้ชมให้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์ครอบครัวหนึ่งอย่างใกล้ชิดถึงในห้องรับแขก พร้อมทำความรู้จักกับสมาชิกทั้งสี่ภายในบ้านเล็กๆ หลังนี้ที่ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ พี่สาว และน้องชาย ผ่านการแสดง 4 ฉากที่บอกเล่า 4 เรื่องราวในห้วงเวลาแห่งการจากลาที่ต่างกัน
ในช่วงแรก ผู้ชมจะได้เห็นแต่ละคนต่างทำกิจกรรมในมุมของตัวเอง แม่นั่งดูโทรศัพท์มือถืออยู่ที่เก้าอี้ บนโต๊ะด้านหน้ามีขวดไวน์ แก้วน้ำ พาสปอร์ตสีน้ำเงิน และกระเป๋าเดินทางใบใหญ่สีชมพูอยู่ข้างตัว เธอใส่เสื้อแขนสามส่วนสีครีมผูกผ้าพันคอดูเก๋ และใส่กางเกงขายาว คล้ายกับกำลังเตรียมตัวออกเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง ไม่ไกลออกไปพี่สาวผู้มาพร้อมผมสีแดงสดใสก็กำลังนั่งดูมือถืออยู่บนโซฟาตัวยาว ส่วนน้องชายก็กำลังเล่นเกมคอมพิวเตอร์อยู่ที่โต๊ะกินข้าว ก่อนที่พ่อผู้สวมเสื้อเชิ้ตลายตารางสุดวินเทจแมตช์กับกางเกงขายาวลายเดียวกันจะเดินเข้ามาในห้องพร้อมปล่อยสารพัดมุกตลก สร้างสีสันให้กับคนในบ้านด้วยเสียงหัวเราะ “คิ คิ คิ” อันเป็นเอกลักษณ์ และการอวยลูกชายรัวๆ ว่า “ตลกได้พ่อ”
ผู้ชมค่อยๆ ทำความรู้จักตัวละครมากขึ้นผ่านบทสนทนาที่เรียบง่ายและข้าวของในห้องที่ล้วนเต็มไปด้วยความทรงจำ ซึ่งเสริมสร้างบรรยากาศอันอบอุ่นของความเป็น “บ้าน” และ “ครอบครัว” ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพที่ติดอยู่บนผนังและของที่ระลึกจากต่างแดนของแม่บนชั้นวางของ กาชงกาแฟที่ส่งกลิ่นหอมกรุ่น สมุดจดเบอร์โทรศัพท์เล่มเก่า เสียงร้องเพลง “ทะเลไม่เคยหลับ” ของ The Impossible (ดิ อิมพอสซิเบิล) รวมถึงเสียงหั่นผักทำครัวของพ่อที่ดังมาจากหลังบ้าน เสื่อออกกำลังกายและเสียงโวยวายของพี่สาว น้องชายกับเสียงเพลงชิลๆ จากวิทยุ และเพลง “New Kid in Town” ของ The Eagles (ดิ อีเกิลส์) จากเกมจำลองชีวิต The Sims (เดอะซิมส์) ที่กำลังเล่นบนแล็ปท็อป
ทีมนักแสดงทั้งสี่คนต่างเล่นเข้าขากันได้เป็นอย่างดีทั้งการรับส่งมุกตลก การปะทะอารมณ์ หรือในช่วงเวลาซึ้งๆ ซึ่งช่วยสร้างชีวิตชีวาให้กับตัวละครจนชวนให้ติดตามว่าแต่ละคนจะมีเส้นทางเป็นอย่างไรต่อไป โดยเรื่องนี้ถือเป็นการรวมตัวนักแสดงฝีมือดีไว้อย่างครบครันทั้ง ปานรัตน กริชชาญชัย ที่มารับบทคุณแม่ผู้เตรียมตัวออกเดินทางคนเดียวแม้ไม่รู้กำหนดการแน่นอน ซึ่งดูเหมือนจะเก็บงำความลับอะไรอยู่ตลอดเวลา เกรียงไกร ฟูเกษม กับบทคุณพ่อจอมป่วนผู้มีมุกฮาแพรวพราว แต่แฝงไปด้วยความห่วงใยคนในบ้านอย่างเปี่ยมล้น ปุณิกา หรั่งฉายา ในบทบาทพี่สาวสุดสตรอง ที่แม้จะขัดแย้งกับคนอื่นในบางครั้ง แต่ก็พร้อมจะปกป้องคนในครอบครัว
รวมถึง กวิน พิชิตกุล ผู้รับบทน้องชายควบคู่ไปกับการกำกับและเขียนบทละครเรื่องนี้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เข้าไปอยู่ในช่วงเวลาเปราะบางที่คนในครอบครัวต้องบอกลากันด้วยหลากหลายเหตุผล ทั้งการเดินทางไปอย่างไม่มีวันกลับ หรือการย้ายถิ่นฐานอย่างกระทันหัน ซึ่งทำให้คนที่ยังเหลืออยู่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะความทรมานที่ต้องอยู่คนเดียวในห้องแห่งความทรงจำที่ว่างเปล่าและเงียบงัน กวินถ่ายทอดความรู้สึกในห้วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี ทั้งการกอดแม่ครั้งสุดท้าย การโทรศัพท์หาพ่อเพื่อบอกให้เที่ยวให้สนุก การกอดลาพี่สาวผู้เป็นสมาชิกคนสุดท้ายในครอบครัวที่อัดแน่นด้วยหลายความรู้สึก และคำพูดสั้นๆ ที่สะท้อนมุมมองของคนที่ต้องรอ ซึ่งหวังให้อีกฝ่ายส่งข่าวหากันบ้างเมื่อถึงที่หมายอย่างปลอดภัย รวมถึงสายตาที่ค่อยๆ เหลียวมองข้าวของภายในบ้านคล้ายกับจะเก็บเกี่ยวความทรงจำให้ได้มากที่สุด ก่อนจะนำสิ่งของที่เป็นตัวแทนของสมาชิกในครอบครัวใส่กระเป๋าเพื่อส่งกำลังใจให้กับการออกเดินทางของน้องชายคนนี้
ตลอดเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาทีของการแสดงที่สร้างสรรค์โดย Sliding Elbow Studio และ Dee-ng Theatre ผู้ชมสามารถรู้สึกได้ว่านี่เป็นเรื่องราวสุดแสนธรรมดาของครอบครัวธรรมดาๆ ครอบครัวหนึ่ง ที่เกิดในบ้านธรรมดาๆ หลังหนึ่ง ซึ่งแต่ละคนต่างรักและผูกพันกันโดยไม่จำเป็นต้องพูดคำว่า “รัก” ออกมา ซึ่งในความธรรมดาเหล่านี้กลับมี “ความไม่ธรรมดา” ซ่อนอยู่ เพราะชีวิตของแต่ละคนล้วนมีคุณค่า สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้กับผู้อื่น และสร้างความทรงจำดีๆ ร่วมกันได้มากมาย ซึ่งแตกต่างจากเกมจำลองชีวิต เพราะในชีวิตจริงไม่มีสูตรลัดมาช่วย ไม่สามารถสร้างชีวิตใหม่มาแทนที่ใคร และไม่สามารถสร้างความผูกพัน ความทรงจำ ความรู้สึกที่มีร่วมกันได้เลย
ห้องขนาดเล็กที่จุคนดูได้ไม่ถึง 30 คน ภายในบริเวณร้าน H Dining ซอยสุขุมวิท 38 ช่วยเสริมให้ผู้ชมได้ใกล้ชิดกับเรื่องราวตรงหน้ามากขึ้น และที่นั่งแต่ละฝั่งยังทำให้เห็นเรื่องราวหลังบานประตูที่คนอื่นอาจไม่เห็น ซึ่งทีมงานทุกคนต่างร่วมกันสร้างสรรค์พื้นที่การแสดงได้อย่างลงตัว ทำให้ห้องนี้อบอุ่นและอบอวลไปด้วยความทรงจำ เหมือนได้เข้าไปนั่งอยู่ในบ้านเพื่อนสนิทจริงๆ นอกจากนั้น การแสดงที่เพิ่งสิ้นสุดไปในเดือนมีนาคมเรื่องนี้ยังเป็นอีกก้าวที่น่าสนใจของนักการละครรุ่นใหม่อย่างกวิน ที่สร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องในหลากรูปแบบหลายประเด็น โดยหลังจากกำกับงานที่เน้นการเคลื่อนไหว (Movement-based performance) มาโดยตลอด เขาได้เปลี่ยนมากำกับละครพูดเป็นครั้งแรกในเรื่องนี้ และยังตั้งใจเลือกประเด็นส่วนตัวที่มีความเซนซิทีฟสูงมาถ่ายทอด รวมถึงนำแสดงด้วยตัวเอง ซึ่งกวินสามารถนำเสนอออกมาอย่างจริงใจ และเข้าใจความเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ไม่ธรรมดาอย่างแท้จริง