Biopsy of Fear: ชันสูตรความกลัว (2021)

โดยพระจันทร์เสี้ยวการละคร กลุ่มบีฟลอร์ และลานยิ้มการละคร 

‘Biopsy of Fear’ เป็นชุดการแสดงที่สร้างสรรค์โดยคณะละครมูฟเมนต์สามรุ่นซึ่งมารวมตัวกันเป็นครั้งแรก นั่นก็คือพระจันทร์เสี้ยวการละคร กลุ่มบีฟลอร์ และลานยิ้มการละคร โดยแต่ละคณะต่างตีความและชำแหละ ‘ความกลัว’ ที่เกิดขึ้นในสังคมผ่านมุมมองและบริบทที่แตกต่างกันผ่านการแสดงขนาดสั้นสามเรื่อง

Photo: Bangkok Art and Culture Center / Facebook

แม่งูเอ๋ยฯ (Ibu Ular)
โดยนลธวัช มะชัย จากลานยิ้มการละคร 

หลังจากที่ผู้ชมเดินเข้าสู่โรงละคร สายตาหลายคู่ต่างจับจ้องไปที่วัตถุขนาดใหญ่กลางพื้นที่แสดงที่ดูคล้ายบ่อน้ำที่ประกอบสร้างจากแท่งไม้ขนาดเล็กมากมาย ก่อนที่ ‘พรานบุญ’ จะปรากฏกายภายใต้หน้ากากสีแดงแซมผมขาวเจรจาภาษาไทยสำเนียงคนกรุงเรียกรอยยิ้มจากผู้ชม และนำเข้าสู่เรื่องราวของการล่าสัตว์ในดินแดนปาตานีที่มาพร้อมกับการปะทะกันระหว่าง ‘อารีฟ’ ผู้ประพันธ์บทกวี ‘แม่งูไม่เคยห่างหายจากหมู่บ้าน’ และ ‘อานนท์ นานมาแล้ว’ บุคคลจากนามปากกาที่เขาสร้างขึ้นมา

บทสนทนาที่เกิดขึ้นและสัญญะต่างๆ ในการแสดงสะท้อนให้เห็นถึงการถูกรุกล้ำทั้งเชิงพื้นที่ อำนาจ ซึ่งก่อให้เกิดความรุนแรงและความสูญเสีย พร้อมตั้งคำถามว่าคนเราจะสามารถดำรงตัวตนและอัตลักษณ์ของตัวเองในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ หรือต้องอยู่กับความหวาดกลัวในการที่จะเป็นตัวเองโดยไม่มีใครพยายามทำความเข้าใจกับหลากหลายและจ้องที่จะทำลายผู้ที่มีความแตกต่าง เห็นได้จากการที่อารีฟ (แสดงโดย ศิวะ วิธญ) เป็นนักเขียนจากสามจังหวัดชายแดนใต้ พูดภาษามลายู แต่กลับต้องซ่อนอยู่เบื้องหลังอานนท์ (แสดงโดย นลธวัช มะชัย) บุคคลที่เขาสร้างขึ้นมาให้แตกต่างจากตัวเอง พูดภาษาไทยสไตล์คนกรุง ผู้สามารถนำแท่งไม้มาก่อเป็นปราการสูงหลายชั้น ตรงข้ามกับอารีฟที่จมอยู่กับกองไม้ที่ก่อเท่าไรก็ไม่เป็นรูปร่าง รวมถึงการตั้งคำถามถึงบทบาทของตัวเองในฐานะกวีที่จะตีแผ่และสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเกิด ความพยายามทลายปราการแห่งอำนาจที่ตั้งตระหง่านขึ้นมาโดยไม่ทันตั้งตัว การต่อสู้ ภาวะจำยอม จนในที่สุดก็มีฝ่ายที่พ่ายแพ้และถูกกลืนกินทั้งตัว ไม่ต่างอะไรจากสัตว์ที่ถูกพรานล่า

‘แม่งูเอ๋ยฯ’ รีเสตจจากผลงานในปี 2019 ถ่ายทอดเรื่องราวในหนังสือรวมบทกวี ‘แม่งูไม่เคยห่างหายจากหมู่บ้าน’ ออกมาเป็นการแสดงได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการนำบทกวีที่สวยงามและมีความซับซ้อนมาเป็นบทสนทนา ซึ่งทำให้คนดูต้องตั้งใจฟังมากขึ้นและคิดตามให้ทันเพื่อที่จะได้เข้าใจเนื้อเรื่อง นักแสดงจึงพยายามพูดให้เป็นจังหวะและเน้นเสียงในท่อนสำคัญๆ เพื่อช่วยให้คนดูไม่หลุดจากเรื่อง แต่ถ้าได้อ่านกวีนิพนธ์เล่มนี้ก่อนมาดูก็น่าจะช่วยให้เข้าใจบริบทของเรื่องได้ดียิ่งกว่าเดิม นอกจากนั้นการแสดงเรื่องนี้ยังทำให้เห็นลายเซ็นของลานยิ้มการละครจากเชียงใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ผู้หลงใหลในวรรณกรรม ศิลปะการแสดง และประเด็นทางสังคมชัดเจนยิ่งขึ้น หลังจากที่เพิ่งนำการแสดงเรื่อง ‘โจนาทาน ชาญวิทย์ แห่งออซ’ มาเล่นที่เทศกาลละครกรุงเทพในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

Photo: Bangkok Art and Culture Center / Facebook
Photo: Bangkok Art and Culture Center / Facebook

The Cowbell and the Invisible
โดยสินีนาฏ เกษประไพ จากพระจันทร์เสี้ยวการละคร 

สำหรับตอนนี้ผู้ชมได้ถูกพาไปยังทุ่งยามค่ำคืนที่กำลังจะมีการแข่งขัน ‘วัวลาน’ การละเล่นท้องถิ่นของภาคกลาง โดยมีกองฟางจำกัดกรอบพื้นที่เป็นวงกลมเพื่อให้วัวที่ลงแข่งวิ่งวนไปรอบๆ เสาจนกว่าจะชนะ

แม้ไม่เคยดูการละเล่น ‘วัวลาน’ มาก่อน แต่การแสดงบูโตที่สื่ออารมณ์ออกมาได้อย่างเข้มข้นและเจนจัดทั้งทางร่างกายและใบหน้าของสินีนาฏทำให้สัมผัสได้ถึงความรู้สึกของสัตว์ที่ถูกนำไปไว้ในลานประลองของมนุษย์ แต่ละตัวล้วนถูกผูกเรียงติดกันไว้และต้องเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกัน แต่จะเป็นอย่างไรถ้ามีสัตว์สักตัวตั้งคำถามขึ้นมาว่าทำไมถึงต้องมาวิ่งวนเสาไปมาให้เหนื่อยเพื่อความบันเทิงของมนุษย์แบบนี้ทั้งที่เมื่อก่อนเคยช่วยมนุษย์นวดข้าวทำนา สัตว์ตัวนั้นจึงพยายามหนีออกนอกกรอบที่ถูกขีดไว้ แต่สิ่งที่มองไม่เห็นก็พยายามผลักให้กลับเข้ามาอยู่ในวงลานซ้ำแล้วซ้ำเล่าและหยุดตั้งคำถาม จนสัตว์ตัวนั้นหมดความอดทนและปลดเปลื้องตัวเองออกจากพันธนาการที่ผู้อื่นยัดเยียดให้ในที่สุด

นอกจากการแสดงและงานด้านภาพที่ตรึงสายตา ‘The Cowbell and the Invisible’ ยังโดดเด่นด้วยสารพัดเสียงที่สั่นสะเทือนจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นเสียงกะโหล่งแขวนคอวัวที่ดังอื้ออึงประหนึ่งว่ามีวัวหลายสิบตัวอยู่ในลานประลองและมีบทบาทในการระบุที่อยู่ของสัตว์ แม้ว่าจะหนีไปไกลแค่ไหนก็สามารถตามเสียงไปจนเจอตัว รวมถึงเสียงดนตรีตรึงใจโดยมณีรัตน์ สิงหนาท ที่สร้างสรรค์เสียงจากเครื่องดนตรีธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ กบไม้ และเสียงร้อง สอดประสานไปกับการเคลื่อนไหวของนักแสดงได้อย่างน่าทึ่ง

Photo: B-Floor Theatre / Facebook
Photo: Bangkok Art and Culture Center / Facebook
Photo: Bangkok Art and Culture Center / Facebook

A Thorn of Conceptual Pain
โดยธีระวัฒน์ มุลวิไล จากกลุ่มบีฟลอร์ 

ในขณะที่สตาฟกำลังเก็บกวาดเศษฟางจากการแสดงก่อนหน้า บุรุษในชุดสูทสีดำที่เขียนข้อความประกาศอิสรภาพสีขาวก็ออกมาเดินไปมาโดยไม่มีใครสนใจใคร หลังจากนั้นเลขนับเวลาถอยหลังเข้าสู่การแสดงก็หยุดลง ชายหญิงในชุดสูทสีดำพร้อมข้อความสีขาวสี่คนก็ปรากฏตัวขึ้นและเดินทวนเข็มนาฬิกาไปมาหลายรอบอย่างมุ่งมั่น โดยมีบทกวีของ ‘Poet of No Identity’ กวีชาวพม่าที่แปลเป็นภาษาอังกฤษขึ้นอยู่ด้านหลัง ซึ่งอ่านแล้วชวนให้นึกถึงเจตจำนงเสรีของมนุษย์ในการใช้ชีวิตที่อิสระ สอดคล้องกับจังหวะการเดินวนรอบพื้นที่การแสดงพร้อมกันของนักแสดงที่คล้ายกับจะเรียงลำดับวิวัฒนาการมนุษย์ที่ค่อยๆ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมาและคนอื่นก็ลองทำตาม หรือบางครั้งก็ทำตามกันไปโดยไม่ได้ฉุกคิดอะไร

ระหว่างที่เดินไปมานั้น เหล่ามนุษย์สูทดำไม่รู้ตัวเลยว่ามีบุคคลภายใต้หน้ากากแทรกซึมเข้ามา คอยสอดส่องการเคลื่อนไหวของพวกเขาอยู่ และเริ่มโยนข้าวของสีน้ำเงินเข้าไปกลางวงขัดขวางจังหวะการเดินของมนุษย์สูทจนทำให้แต่ละคนล้มลง แต่ก็มีคนพยายามลุกขึ้นมาต่อสู้กับสิ่งนั้นและฟาดกลับไปว่าที่จริงแล้วตอนนี้เราไม่ได้รุ่งเรืองแบบในเพลง ‘บ้านเกิดเมืองนอน’ ของสุนทราภรณ์ซะหน่อย แต่กลับดูคล้ายกับเพลง ‘บ้านป่าเมืองดอน‘ ของพลเมืองโต้กลับเสียมากกว่า เพราะผ่านไป 76 ปีแต่บ้านเมืองกลับไม่มีการปรับเปลี่ยนให้เท่าทันโลกและยังถือตัวว่าเป็น ‘พงศ์เผ่าศิวิไลซ์’ อยู่ร่ำไป

Photo: Bangkok Art and Culture Center / Facebook

สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์มากมายในการแสดงชิ้นนี้ มนุษย์หน้ากากในชุดจั๊มสูทสีงามตาที่โบกมือให้คนดู เดินไปตามขบวนเส้นลวด ก่อนจะจับเส้นลวดนั้นมาบิดขย้ำคล้ายกับจะทำลายให้สิ้นไป ซ้อนกับภาพเบื้องหลังที่มีมนุษย์หน้ากากอีกคนในชุดสูทดำกำลังนำลวดที่ขึงอยู่มาพันรอบเก้าอี้สีน้ำเงินและเดินเข้าไปใกล้ขึ้นเรื่อยๆ คล้ายกับการยึด-ยื้ออำนาจของสองฝ่าย แม้แต่ละคนจะตีความเส้นลวดแตกต่างกันไป แต่ทุกคนน่าจะสัมผัสได้ถึง ‘ความกลัว’ ที่มีต่อวัตถุสีเงินเส้นบางๆ เส้นนั้น ทุกการเคลื่อนที่ การกระทำ ทำให้เรารู้สึกหวาดเสียว หวาดกลัวว่านักแสดงจะเจ็บรึเปล่า การกระโดดข้ามเส้นนี้จะยากลำบากแค่ไหน ยิ่งถ้าต้องกระโดดไปพร้อมกัน เสียงขดลวดหลายขดที่สัมผัสกับพื้นตามจังหวะการขยับมือของนักแสดงทำให้รู้สึกเหมือนเป็นการปลุกวิญญาณ แต่ทันใดนั้นก็มีเสียงหวดลวดฟาดลงมาคล้ายกับว่าอยากให้ผู้คนหยุดส่งเสียง โดยจอด้านหลังก็ขึ้นภาพถ่ายของของกบฏผู้มีบุญอีสาน พ.ศ. 2444 ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของผู้คนที่ไม่พอใจการทำงานของฝ่ายปกครอง จึงใช้ศิลปะในการสื่อสารที่หลากหลายเพื่อชักชวนผู้คนให้เข้าร่วม ก่อนจะถูกปราบในที่สุด

เสียงแห่งการปลุกผีดังขึ้นอีกครั้งเบื้องหลังภาพของผู้คนที่ถูกเรียกว่า ‘กบฏ’ แต่คราวนี้เป็นเสียงกลองที่ส่งเสียงดังและสร้างความสั่นสะเทือนยิ่งขึ้น สมาชิกราษดรัมส์เดินออกจากหลังม่านมาหน้าเวทีโดยมีผู้คนในชุดสูทดำมาร่วมแจม ทั้งร่วมตีกลอง ทั้งส่งเสียงพูดที่อาจถูกเสียงกลองกลบแต่ก็ฟังคุ้นหู เส้นลวดที่เคยทำให้รู้สึกหวาดกลัวก็กลายเป็นเส้นขยุกขยุยที่ถูกทิ้งไว้อยู่เบื้องหลัง คล้ายจะตอกย้ำว่าหากผู้คนร่วมใจกันส่งเสียงต่อไปก็จะสามารถเอาชนะความหวาดกลัวที่ครอบงำมานานได้สำเร็จ

‘A Thorn of Conceptual Pain’ นำเสนอข้อความเหล่านี้ พร้อมสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างจริงใจ ชัดเจน ตรงประเด็น และมีชั้นเชิงด้วยลูกเล่นแพรวพราวตามสไตล์ธีระวัฒน์ จนทำให้นึกย้อนถึงตอนดูการแสดงเรื่อง ‘Flu-Fool’ เมื่อปีที่แล้วที่ปรากฏภาพของ ‘ผีราษฎร’ และการนำบรรยากาศม็อบมาไว้ในโรงละคร ซึ่งความเปลี่ยนแปลงและการตื่นรู้ของผู้คนทางการเมืองในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ทำให้ตั้งคำถามมาโดยตลอดว่าคนละครจะสื่อสารประเด็นทางการเมืองอย่างไรต่อไป และการแสดงเรื่องนี้ก็ตอบคำถามที่ค้างคาใจเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

Photo: Bangkok Art and Culture Center / Facebook
Photo: B-Floor Theatre / Facebook

การแสดงทั้งสามเรื่องใน ‘Biopsy of Fear’ ต่างยึดโยงด้วยธีมหลักเกี่ยวกับความกลัวและมีจุดเชื่อมโยงกันอย่างแนบเนียน ทั้งการใส่หน้ากาก-การทาหน้าขาว แรงบันดาลใจจากบทกวี การจัดเรียงเรื่องราวไต่ระดับทางอารมณ์ รวมถึงระดับของเสียงที่ค่อยๆ ดังขึ้น การใช้ภาษาหรือเสียงที่อาจฟังไม่เข้าใจแต่สัมผัสได้ถึงความรู้สึกของผู้คน โดยรวมจึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่น่าประทับใจของปี 2564 ที่ทำให้ผู้ชมได้เต็มอิ่มกับสุนทรียศาสตร์ของศิลปะการแสดง ไปพร้อมกับการจุดไฟในใจของผู้คนให้ได้ไปคิดวิเคราะห์และแสวงหาความหมายของสิ่งต่างๆ เพิ่มเติม และยังจุดพลังให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้คนกำจัดความกลัวได้สำเร็จ นอกจากนั้นการเห็นพลังของสตาฟคนรุ่นใหม่ รวมถึงการรวมพลังของคนละครมากมายหลากหลายรุ่นในการทำโปรเจกต์นี้ ยังเป็นภาพที่สวยงามมากๆ

Biopsy of Fear’ เปิดการแสดงระหว่างวันที่ 10 – 12 ธันวาคม 2021 ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศิลปะการแสดง (Performative Art Project) ครั้งที่ 10

Photo: B-Floor Theatre / Facebook