Flu-Fool (2020) ภาพสะท้อนปีศาจแห่งกาลเวลาที่คืบคลานเข้ามาใน 1 ทศวรรษ

กำกับโดย ธีระวัฒน์ มุลวิไล

Credit: Facebook/BACC

ความทรงจำถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อนของบางคนอาจจะลางเลือน แต่สำหรับคณะละคร B-Floor Theatre เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2553 มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งคณะได้บันทึกความรู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นไว้ในการแสดง ‘Flu-Fool’ (2554) ก่อนจะนำกลับมาแสดงอีกครั้งในปีนี้เพื่อสะท้อนถึงความป่วยไข้และความเขลาของสังคม พร้อมฉายภาพ ‘ปีศาจแห่งกาลเวลา’ ที่ได้คืบคลานเข้ามาใกล้ยิ่งขึ้นในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

Flu-Fool ถือเป็นผลงานแบบเต็มโปรดักชั่นครั้งแรกในปีนี้ของบีฟลอร์ คณะละครฟิสิคัลแถวหน้าของไทย หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ซึ่งนอกเหนือจากการถ่ายทอดสารผ่านการเคลื่อนไหวแล้ว ยังมีการนำมัลติมีเดียมาใช้มากมาย โดยมีระยะเวลาการแสดงรวม 1 ชั่วโมง 45 นาที และแบ่งออกเป็นสองพาร์ทคือ Flu และ Fool

สำหรับพาร์ทแรก Flu มาจากชื่อเต็มว่า ‘Flu-O-Less-Sense ไข้ประหลาดระบาดไทย‘ ได้พาผู้ชมย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน แสงไฟหลากสีสาดลงบนเวทีเคล้าเสียงเพลง ‘อายแสงนีออน’ ของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่เล่าถึงความโหดร้ายของกรุงเทพฯ ก่อนที่แสงไฟจะสลับเป็นสีขาวอมฟ้าให้บรรยากาศเย็นชา นักแสดงในชุดสีสันสดใสต่างทยอยเดินเข้ามาในพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าสีขาวซึ่งมีผนังขนาบทางด้านกว้าง ผู้ชมได้เห็นภาพของสนามบินที่มีผู้คนขวักไขว่และค่อยๆ รับรู้ถึงอัตลักษณ์ของผู้คนบนแผ่นดินนี้ผ่านเพลง ‘สยามเมืองยิ้ม’ ที่พุ่มพวงได้ขับร้องบอกให้เราภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนไทย​และขอไม่ให้มีใครทำให้ประเทศร้าวราน นักแสดงที่ร่ายรำด้วยรอยยิ้ม ค่อยๆ มีสีหน้ากระอักกระอ่วน พยายามกระชากรอยยิ้มออกจากใบหน้าแต่ไม่เป็นผล ต่อมานักแสดงบางส่วนได้นำจานมาวางไว้เป็นช่องทางเดิน คล้ายจะอัญเชิญนักดนตรีในชุดดำให้ออกมาบรรเลงเพลงร็อกหนักหน่วงทำร้ายผู้คน รวมทั้งตัวเอง

หลังจากนั้นการแสดงก็ได้เล่าและฉายภาพของเหตุการณ์ชุมนุมของ ‘ม็อบเสื้อแดง’ อดีตนายกรัฐมนตรี ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) การ์ตูนยอดมนุษย์ ละครไทยตบตี ความรักรันทดของโจโจ้ซัง ไปจนถึงภาพบนจอโทรทัศน์ที่ว่างเปล่า นักแสดงจากที่ดูเหมือนเป็น​อิกนอแรนต์​ (ignorant)​ ไม่สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว​ แค่หยุดดูภาพที่ฉายบนจอเป็นช่วงๆ​ สลับกับการนำ ‘จาน’ มาเล่น ซึ่งขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคนว่าจะมองจานเป็นอะไร​ ในบางจังหวะ​ ‘จาน’​ คือภาพแทนของอำนาจในการปกครองที่กระจายไปยังผู้คน​ แต่ต่อมาก็เริ่มติดขัด​เพราะมีการรวมอำนาจไว้เพียงจุดเดียว​ ก่อนจะถึงจุดที่ชวนสะพรึงเมื่อเวทีมืดลง​ จานค่อยๆ​ ถูกกลิ้งเข้าไปกลางเวทีทีละใบๆ​ และเมื่อจานแน่นิ่ง​เกลื่อนฟลอร์ นักแสดงต่างปรี่เข้าไปหมุนจานแต่ละใบคล้ายจะปลุกให้มันฟื้นขึ้นมา​ ชวนให้หวนนึกถึงภาพของหลายชีวิตที่ต้องมาจบลงในเหตุการณ์​สลายการชุมนุม​ ซึ่งยังจับกุมคนทำผิดไม่ได้จนถึงทุกวันนี้ หลังจากนั้นนักแสดงค่อยๆ เก็บจานขึ้นมา แต่นักดนตรีชุดดำกลับเข้ามากวาดจานเหล่านั้นทิ้งไปอย่างไม่ใยดี เหมือนกับไม่อยากให้หลงเหลือความทรงจำถึงสิ่งเลวร้ายที่เคยเกิดขึ้น นักแสดงเก็บจานที่ยังเหลือพร้อมแหงนขึ้นมองแสงนีออนที่ริบหรี่คล้ายจะตั้งคำถามว่าทำไมที่นี่ถึงใจร้ายกับผู้คนที่ไม่มีทางสู้ได้ขนาดนี้

เมื่อมาถึงพาร์ทที่สอง ‘Fool Alright โง่ โอเค!’ ได้พาเราย้อนไปตั้งแต่ครั้งสร้างเมืองที่ตามตำนานต้องฝังคนที่ยังมีชีวิตไปพร้อมกับเสาของศาลหลักเมือง คนที่มีชื่อ ‘อิน จัน มั่น คง’ เลยต้องสังเวยชีวิตให้กับความเชื่อเพื่อกลายเป็น ‘ผีราษฎร’ ที่จะมาปกปักรักษาบ้านเมืองต่อไป การแสดงได้จำลองบรรยากาศของพิธีกรรมนี้อย่างน่าจดจำทั้งภาพและเสียงผ่านแอนิเมชัน รวมถึงนักแสดงที่ตอนนี้อยู่ในชุดสีขาวคล้ายคนโบราณ สี่คนกำลังช่วยกันลำเลียงไม้ไผ่ไว้บนบ่าลำละสองคน ตรงกลางนำโดยมือกลอง ตามด้วยคนเป่าแตรที่นั่งอยู่บนรถเข็นที่มีนักดนตรีชุดดำคอยขับเคลื่อน คล้ายกับบทบาทของจานในพาร์ทแรก ลำไม้ไผ่เป็นสัญญะที่สื่อความได้หลากหลาย ทั้งบาร์บัลเล่ต์ ปืน การสังเวย การอยู่ในระนาบ/ระบบเดียวกัน ความรุนแรง หรืออำนาจที่ผลัดเปลี่ยนไปหลังรัฐประหาร ส่วนเก้าอี้รถเข็นก็สามารถสะท้อนได้ถึงอำนาจอันป่วยไข้ของผู้ปกครอง

ความเขลายังดำเนินต่อไปเมื่อนักแสดงได้รวมตัวกันส่งข้อความบนกระดาษไปตามสายพาน โดยไม่รู้เลยว่ามีเครื่องย่อยกระดาษจ่อทำลายสิ่งที่พวกเขาทุ่มเทอยู่ตรงปลายทาง และมีคนบนรถเข็นผู้ไม่เคยเห็นค่าหรือเหลียวมองข้อความเหล่านั้นเลยอยู่เบื้องหลัง เมื่อมีคนลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับสิ่งที่ผิดปกติ พวกเขากลับต้องเผชิญภยันตรายและมีชะตาชีวิตที่ยากจะคาดเดา ไม่ต่างจากผู้ถูกบังคับสูญหาย 16 คนที่ค่อยๆ ฉายภาพขึ้นบนผนังทั้งสองด้าน ตั้งแต่กรณีของเตียง ศิริขันธ์ ในปี 2495 มาจนถึงเคสล่าสุดในปีนี้ของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งทำให้นึกย้อนไปถึงฉากเปิดตัวของพาร์ทนี้ พร้อมคำถามที่ว่าราษฎรเหล่านี้ถูกทำให้หายไปเพื่อปกป้องสิ่งใด

Credit: Facebook/BACC

ในขณะที่ผู้ชมเริ่มคุ้นชินกับการสื่อสารโดยไม่ใช้ภาษาพูด การแสดงก็แหกโค้งพาทุกคนมาที่ม็อบคณะราษฎรในวันที่ 16 ตุลาคม ได้ยินเสียงของผู้คนที่หลากหลายออกมาไฮด์ปาร์คเรียกร้องในประเด็นที่สำคัญของแต่ละชีวิตแตกต่างกันไป การเปลี่ยนโหมดนี้อาจจะชวนเหวอไปบ้าง แต่ก็ทำให้เห็นภาพชัดเจนถึงการตื่นรู้ของผู้คน และการมาถึงของปีศาจแห่งกาลเวลาที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับโลกเก่า ดังที่นักแสดงได้พูดไว้ว่านี่คือเวลาของการปลดปล่อย ‘ผีราษฎร’ ให้เป็นอิสระ และ ‘ราษฎร’ ทุกคนจะดูแลประเทศต่อไปนับจากนี้  จากที่ผู้คนเคยนิ่งเงียบยอมรับชะตากรรมฟ้าลิขิตตามบุญบาปเมื่อชาติปางก่อน ก็ออกมาใช้สิทธิส่งเสียงในสิ่งที่พวกเขาต้องการเห็นในสังคม ผนังฉายภาพของม็อบและการเซิร์ฟเป็ดยางสีเหลือง นักแสดงต่างชักชวนผู้ชมให้นำโบว์ขาวไปติดที่ซากประติมากรรมบนเวที ชวนแจวให้ลุกขึ้นยืน ก่อนจะเดินออกจากเวทีไปยังประตูทางเข้าออกของห้อง คล้ายกับจะบอกว่าการเรียกร้องนี้ยังคงดำเนินต่อไปในโลกแห่งความเป็นจริง และพวกเขาก็พร้อมที่จะไปยังท้องถนนเพื่อส่งเสียงร่วมกับผู้คนตรงนั้น

Flu-Fool (2020) ถือเป็นอีกผลงานที่โดดเด่นของบีฟลอร์ในการสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงอุดมการณ์ของศิลปินในการสร้างความตื่นรู้ให้กับผู้คน โดยสร้างสรรค์การแสดงออกมาได้อย่างน่าติดตามทั้งการออกแบบท่าทาง ภาพแอนิเมชัน-สารคดี เสียงและดนตรีที่สร้างอารมณ์ร่วมได้เป็นอย่างดี เสื้อผ้าที่อาจดูเรียบง่ายแต่ช่วยสื่อความหมายให้แต่ละพาร์ท รวมถึงนักแสดงทั้งเจ็ดที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันแต่ก็แสดงประสานกันได้อย่างมีเอกภาพ แถมต้องรับบทหนักทั้งตีลังกา วิ่งไปมา หมุนตัวหลายสิบรอบ ปะทะกันรัวๆ จนรู้สึกว่าแค่นั่งดูเฉยๆ ก็ปวดตัวแทนแล้ว แต่ทุกคนก็สตรองมาก เคลื่อนไหวร่างกายได้น่าติดตามและมีเสน่ห์ทุกคน 

Flu-Fool (2020) เหลือการแสดงสดเพียง 2 รอบในวันที่ 12 และ 13 ธันวาคมนี้ เวลา 19.00 น. ที่สตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยสามารถรับชมแบบ Live broadcast ได้เช่นกันในวันที่ 12 ธันวาคมนี้เพียงรอบเดียวเท่านั้น