‘ART’ เมื่อการถกเถียงถึงศิลปะทำให้ทบทวนถึงมิตรภาพ
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกทาง:
เว็บไซต์มติชน (วันที่ 5 ตุลาคม 2565)
หนังสือพิมพ์มติชน (วันที่ 7 ตุลาคม 2565)
งานศิลปะบนผืนผ้าสีขาวที่มีเส้นสีขาวพาดผ่านที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่กลับจุดชนวนให้สามหนุ่มผู้เป็นเพื่อนรักกันมานานถึง 15 ปีทะเลาะกันอย่างหนักจนถึงขั้นจะตัดความสัมพันธ์ จนทั้งหมดต้องมาทบทวนกันครั้งใหญ่ว่าอะไรสำคัญกับพวกเขามากกว่ากันระหว่าง ‘ศิลปะ’ หรือ ‘มิตรภาพ’
‘ART’ เป็นบทละครแนวคอมเมดี้ที่เขียนโดยยาสมินา เรซา (Yasmina Reza) นักเขียนบทละครมือรางวัลชาวฝรั่งเศส ซึ่งจัดแสดงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2537 หลังจากนั้นก็ได้รับการแปลในหลายภาษาและเปิดแสดงในหลายประเทศ สำหรับการแสดงในไทยครั้งนี้ กำกับโดยภัทรสุดา อนุมานราชธน และนำแสดงโดยสามอาจารย์ผู้คร่ำหวอดด้านศิลปะการแสดง ได้แก่ สองศิลปินศิลปาธร ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ และนิกร แซ่ตั้ง รวมถึงปวิตร มหาสารินันทน์ อดีตผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งแปลบทละครเรื่องนี้เป็นภาษาไทยด้วยเช่นกัน
จากบทละครดั้งเดิมที่ชื่อตัวละครเป็นภาษาฝรั่งเศสก็ได้ถูกปรับให้คล้ายกับชื่อจริงของนักแสดง เริ่มจาก ‘ดำ(เกิง)’ (Marc) วิศวกรการบินอารมณ์ร้อนที่ดูจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ ‘ป้อม – ปวิตร’ (Serge) หมอผิวหนังผู้หลงใหลในศิลปะสไตล์โมเดิร์น โดยมีตัวเชื่อมเป็น ‘นิกร’ (Yvon) ที่เพิ่งเริ่มธุรกิจขายเครื่องเขียนและกำลังจะแต่งงาน โดยเรื่องได้ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติด้วยบทสนทนาระหว่างตัวละคร บทพูดคนเดียว (โมโนล็อก) ที่ตัวละครหันมาพูดระบายความในใจให้คนดูได้ฟัง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ค่อยๆ เผยรายละเอียดของตัวละครขึ้นทีละน้อยว่าเป็นใคร ชอบอะไร ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาโชกโชนขนาดไหนในบริบทไทยๆ ที่สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก
ความขัดแย้งของทั้งสามเริ่มต้นเมื่อ ‘ป้อม’ ซื้อภาพเขียนสีขาวของศิลปินชื่อดังมาในราคา 1 ล้าน 2 แสนบาท แต่ ‘ดำ’ พิจารณาภาพนั้นเท่าไรก็เห็นแต่ความว่างเปล่าที่ไม่สื่อความหมายใดๆ ไม่มีคุณค่าหรือความสุนทรีย์ที่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป จนต้องไปหา ‘นิกร’ เพื่อเล่าถึงภาพเขียนที่เขามองว่าเป็นขยะ ซึ่งนิกรก็ได้แต่เออออเห็นด้วยไป แต่พอได้ไปเห็นภาพนั้นจริงๆ เขาก็เปลี่ยนใจ เพราะเห็นว่าภาพนั้นมีความน่าสนใจ และไม่ได้แต่งแต้มด้วยสีขาวเพียงอย่างเดียว
หลังจากนั้นทั้งสามคนได้นัดกันมากินข้าว แต่เรื่องราวของความไม่พอใจต่างๆ ก็เริ่มพรั่งพรูออกมา ตั้งแต่การเถียงกันเรื่องรูปวาดสีขาวหรือไม่ขาว มีกี่เส้นพาดผ่าน มุมมองด้านศิลปะที่แตกต่างกัน ความเปลี่ยนแปลงของเพื่อนที่ไปเข้าสังคมใหม่ ความล้มเหลวในด้านต่างๆ ของชีวิต จิตแพทย์ อาหาร แต่ก่อนที่ทุกอย่างจะพังทลายและแตกหักกันจนไร้ทางแก้ ทั้งสามก็หาวิธีในการเยียวยาความสัมพันธ์ที่สั่นคลอนด้วยการแก้ที่ต้นเหตุ นั่นคือภาพวาด จนทำให้เกิดการตีความรูปภาพผืนนี้ไปได้ในอีกมิติ
สิ่งที่ทำให้ ‘ART’ เวอร์ชันนี้โดดเด่นและดูเพลินตลอดระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งก็คือ การแสดงอันเป็นธรรมชาติของนักแสดงทั้งสามที่ดูเข้ากับบทและเป็นหนึ่งเดียวกับตัวละครเป็นอย่างดี แม้หลายฉากจะมีบทพูดยาวซึ่งต้องการความต่อเนื่องทางอารมณ์ ทั้งหมดก็ทำได้อย่างลื่นไหล ไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะ การโกรธ การบ่นพล่ามไม่หยุด ความตลกจากมุกจิกกัดต่างๆ ที่เกิดจากการผสมผสานบทต้นฉบับกับการดัดแปลงให้เข้ากับบริบทไทยได้อย่างกลมกล่อม
สำหรับการกำกับโดยภัทรสุดาก็ยังคงน่าประทับใจด้วยจังหวะที่เฉียบคม พร้อมสื่อถึงความอบอุ่นของมิตรภาพระหว่างเพื่อนรักสามคน สามสไตล์ จนอดไม่ได้ที่จะนึกถึงผลงานก่อนหน้าที่เล่าถึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่เคล้าเสียงทะเลาะเบาะแว้งได้ดีไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น “My Mother’s Kitchen” บทโดยจตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ ที่แสดงในปี 2562 และ “พ่อ” ซึ่งเปิดแสดงในปี 2564 โดยดัดแปลงมาจากบทของฟลอเรียน เซลเลอร์ (Florian Zeller) นอกจากนั้น การจัดแสดงที่โรงละครกาลิเอโอเอซิส (GalileOasis) ย่านราชเทวี ที่รายล้อมด้วยผนังสีขาวขุ่นยังช่วยเสริมประเด็นของเรื่องได้ดี คล้ายกับจะตั้งคำถามไปยังผู้ชมแต่ละคนว่ามองเห็นผ้าใบผืนนี้เป็นสีขาวล้วนหรือมีหลายเฉดสี มีเส้นที่พาดผ่านหรือไม่ และรู้สึกอย่างไรหลังจากที่ได้ดูงานศิลปะชิ้นนี้
‘ART’ จัดแสดงเวลา 19.30 น. จนถึงวันที่ 8 ตุลาคมนี้ ที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ ถนนวิทยุ ติดตามรายละเอียดได้ที่เพจเฟซบุ๊ก NUNi Productions
*หมายเหตุ* ปวิตร มหาสารินันทน์ เป็นประธานชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง (IATC Thailand) ซึ่งผู้เขียนเป็นสมาชิกอยู่