สถาปนา Chapter 2 : ภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg) [2014]
สถาปนา Chapter 2 : ภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg)
โดย คาเงะ – ธีระวัฒน์ มุลวิไล
30/10/14, 19.30 น.
ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลังจากถ่ายทอดความรู้สึกของผู้ถูกกระทำไปในการแสดง ‘สถาปนา’ ตอนแรก ‘ถังแดง’ เมื่อต้นเดือนตุลาคม ผ่านไปเพียง 20 กว่าวัน ‘คาเงะ – ธีระวัฒน์ มุลวิไล’ ก็กลับมาอีกครั้งกับตอนที่ 2 ‘ภูเขาน้ำแข็ง’ ซึ่งคราวนี้สลับมุมมองมาสำรวจเบื้องหลังของผู้กระทำกันบ้าง
ในขณะที่ ‘ถังแดง’ มุ่งสำรวจชีวิตผู้ชายคนหนึ่งที่จำต้องเอาตัวรอดอยู่ท่ามกลางถังแดง 15 ใบ ‘ภูเขาน้ำแข็ง’ ได้ตีแผ่หลายแง่มุมของผู้คนขั้วตรงข้ามผ่านการแสดงที่แบ่งออกเป็น 3 ชุดย่อยอย่างชัดเจน
เริ่มจาก ‘เด็กส่งน้ำแข็ง’ ที่ก้าวเข้ามาในห้องเย็นยะเยือกที่เต็มไปด้วยซากน้ำแข็ง มีหัวม้าหัวหนึ่งประดับอยู่บนก้อนน้ำแข็ง และมีเพียงแผ่นเสียงและเครื่องเล่นวางอยู่บนโต๊ะยาวสีขาว เขาอาจจะยังเล่นสนุกเหมือนทุกวัน ถ้าสายตาเขาไม่หันไปเห็นชุดสีกากีที่ตั้งเด่นในห้อง มนต์ขลังที่เย้ายวนของชุดนั้นเปลี่ยนเขาให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตเลือดเย็น ที่มีอุณหภูมิในร่างกายไม่ต่างจากน้ำแข็งที่กระจัดกระจายไปทั่วพื้น
‘Tank Man’ คือชายนิรนามผู้โด่งดังจากวีรกรรมการยืนเผชิญหน้ากับขบวนรถถังด้วยตัวคนเดียว (พร้อมกับถุง 2 ใบที่เขาหิ้วมาด้วย) ไม่มีใครรู้ว่าเขาคือใคร มาจากไหน อะไรอยู่ในถุงนั้น และก็ไม่มีใครรู้อีกเช่นกันว่าชะตากรรมของเขาเป็นอย่างไรหลังจากเหตุการณ์นี้ ราวกับว่ามีใครพยายามลบเขาให้หายไปจากประวัติศาสตร์ แต่ ‘คาเงะ’ ได้นำเขากลับมายืนบนเวทีอีกครั้ง พร้อมตีความสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในวันนั้นว่า คนที่มามือเปล่าและพยายามโต้ตอบเบื้องบนด้วยวิธีการที่ไร้ความรุนแรง ต้องพบกับการ ‘ปรับทัศนคติ’ อะไรบ้างภายในห้องอุณหภูมิติดลบเช่นนี้
คนสุดท้ายคือ ตัวละครเก่าที่เคยปรากฏใน ‘ถังแดง’ โดยคราวนี้หน้าที่เขาไม่มีอะไรมากนอกจากกดรีเซ็ตทุกอย่าง เพื่อเตรียมต้อนรับน้ำแข็งก้อนใหม่ เด็กส่งน้ำแข็งคนใหม่ ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า
สิ่งที่น่าชื่นชมของ ‘ภูเขาน้ำแข็ง’ คือการแสดงของ ‘คาเงะ’ ที่ทำได้ดีจริงๆ และสร้างสรรค์ผลงานที่ให้ประสบการณ์ใหม่กับคนดูทั้งภาพและเสียง ทั้งการได้เห็นภาพน้ำแข็งถูกทารุณแบบโคลสอัพ และการได้ยินเสียงวัตถุหลากชนิดกระทบก้อนน้ำแข็งด้วยแรงที่แตกต่างกัน มันก็ทำให้รู้สึกหนาวจนตัวสั่น (โดยไม่ต้องพึ่งแอร์ในห้องซึ่งเย็นยะเยือกไม่แพ้กัน)
นอกจากนั้นการนำประเด็นหนักๆ ทางสังคมมาตีแผ่ก็ทำได้อย่างน่าสนใจ ด้วยความที่ไม่ได้เจาะจงว่าเกิดขึ้นที่ไหน เลยทำให้รู้สึกว่าเหตุการณ์ต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่หลายประเทศต้องเผชิญ นั่นก็คือเรื่องของการจำกัดสิทธิเสรีภาพผู้อื่นทั้งทางร่างกาย ความคิด และปฏิเสธที่จะยอมรับความแตกต่างของผู้คน จนสุดท้ายก็ใช้ชุดความเชื่อเดิมๆ ว่าความรุนแรงแก้ปัญหาได้ มาทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อแลกกับสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง
ถ้าลองมองน้ำแข็งแต่ละก้อนให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเลือดเนื้อ ไม่แตกต่างจากเรา ก็จะสะเทือนใจไม่น้อยเวลาน้ำแข็งถูกทำลายลงตรงหน้า หรือแม้แต่ชะตากรรมของตัวละครที่ดูเป็นเบี้ยล่างเอง เราก็ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าเขาจะกลายเป็นหนึ่งในก้อนน้ำแข็งที่ส่งเข้ามาในห้องนั้นเมื่อไหร่ หน้าที่ของพวกเขาคงไม่ต่างจากม้าที่สร้างคนธรรมดาให้เป็นอัศวินได้ แต่พอหมดประโยชน์ก็อาจถูกกำจัดทิ้ง เหลือไว้เพียงหัวเพื่อตั้งโชว์ต่างหน้า เพื่อรำลึกถึงชัยชนะที่พวกเขาไม่สิทธิ์จะร่วมฉลองด้วย
มีหลายครั้งที่ตัวละครอยู่ๆ ก็หันมาจ้องที่คนดู ราวกับจะถามว่าทำไมพวกเราถึงเอาแต่นั่งดูอยู่เฉยๆ ไม่คิดจะทำอะไรเพื่อยับยั้งความโหดร้ายนี้เลยเหรอ คิดจะยื่นมือเข้ามาช่วยบ้างรึเปล่า สุดท้ายแล้ว ‘ผู้กระทำ’ ที่น่ากลัวที่สุดก็อาจเป็นพวกเราที่มัวแต่นิ่งเฉย ไม่สะทกสะท้านกับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นตรงหน้า ปล่อยให้เกล็ดน้ำแข็งค่อยๆ ร่วงลงมาปกปิดรอยเลือด ชะล้างซากน้ำแข็ง และทับทมกันหลายชั้นขึ้นเรื่อยๆ จนสูงชันเป็นภูเขาน้ำแข็งที่สะท้อนความอัปยศของมนุษยชาติ
‘สถาปนา’ เกิดจากการเดินทางไปวิจัยเรื่องการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของศิลปินไทย ลาว พม่า ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย แน่นอนว่าผู้สร้างสรรค์ศิลปะในประเทศแถบเอเชียก็ต้องเผชิญชะตากรรมที่ไม่แตกต่างกันนัก ซึ่ง‘คาเงะ’ ได้แสดงให้เห็นว่า การห้ามศิลปินไม่ให้คิด หรือให้คิดได้เฉพาะในกรอบแคบๆ ที่ให้ไว้ ก็ไม่ต่างอะไรจากการพรากจิตวิญญาณออกจากร่าง เพราะอาวุธหนึ่งเดียวของศิลปินก็คือความคิดที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ การถูกบีบบังคับต่อไปก็อาจทำให้ศิลปินคนนั้นสูญเสียอัตลักษณ์ หรืออาจเป็นแรงผลักดันให้ลุกขึ้นมาตอบโต้ผ่านการแสดงอย่างมีชั้นเชิงต่อไป