มังกรสลัดเกล็ด เดอะมิวสิคัล (2015)
มังกรสลัดเกล็ด เดอะมิวสิคัล ถ่ายทอดเรื่องราวของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นจนถึงบั้นปลายชีวิตได้อย่างน่าสนใจ ถึงแม้จะไม่เคยศึกษาประวัติ อ.ป๋วย อย่างจริงจังมาก่อนก็สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก และทำให้เห็นความเสียสละของผู้ชายคนนึงที่ขอยึดมั่นในความยุติธรรมและสิ่งที่เชื่อ เพื่อให้ประเทศก้าวต่อไป
ถ้าใครเคยดูละครร้องของคณะอนัตตามาก่อน ก็น่าจะคุ้นกับเพลงร้องแบบไทยนี้ได้ไม่ยาก รวมถึงการดำเนินเรื่อง เปลี่ยนฉากที่ยังคล้ายเรื่องก่อนหน้า เพียงแต่โปรดักชั่นใหญ่ขึ้นมาก จากที่เคยแสดงโรงละครขนาดเล็กที่จุคนได้ประมาณ 100 ที่นั่ง คราวนี้มาที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมฯ ที่มีเก้าอี้ 2,000 ตัว ซึ่งรอบที่เราไปดูก็รู้สึกว่าจัดสรรพื้นที่ได้โอเค ฉากดูน้อยแต่ใช้งานได้เยอะ แต่อาจมีติดขัดบ้างเวลาเปลี่ยนฉาก อาจเพราะเป็นรอบแรกที่แสดงต่อหน้าผู้ชมด้วย นอกจากนั้นการควบคุมไฟยังไม่ลงตัวนัก แต่ที่น่าเสียดายที่สุดก็คือระบบเสียงบนเวทีและไมค์นักแสดงทั้งตัวหลักและ ensemble เพราะหลายครั้งที่นักแสดงบางคนพูดและร้องแต่แทบไม่ได้ยินเลย (ขนาดเรานั่งแถวหน้าๆ)
สำหรับการแสดงของ อ.ป๋วย 3 เจเนอเรชั่น ‘อาร์ม – กรกันต์’ ทำได้ดีมากทั้งการร้องและการแสดง รวมถึง ‘พ่ออี๊ด – สุประวัติ’ ที่เอาอยู่ทุกอารมณ์ (แต่ไมค์ไม่ค่อยดี) ขณะที่ ‘นาวิน ต้าร์’ ดูภูมิฐานดี แต่เสียงร้องยังค่อนข้างไม่แข็งแรง และยังหาเสียงตัวเองในบางช่วงไม่เจอ เช่น ตอนที่เปลี่ยนวัย เสียงพูดเปลี่ยน แต่ยังคงร้องใช้เสียงแบบเดิม ส่วนบทของมาร์กาเร็ต ตอนแรกที่เปิดตัวมาแอบรู้สึกว่า ‘จ๊ะจ๋า – พริมรตา’ เล่นใหญ่ไปเยอะ อาจเพราะตีความว่าเป็นฝรั่งด้วยรึเปล่าไม่แน่ใจ แต่หลังๆ มาก็รู้สึกว่าเข้าที่มากขึ้น ส่วนเสียงร้องก็ดีอยู่แล้ว หายห่วง ข้ามไปที่มาร์กาเร็ตช่วงหลังที่รับบทโดย ‘เบียร์ – มนทกานติ’ ซึ่งทำได้ดีมากทั้งร้องและแสดง โดยฉากที่ออกมานั้นเป็นช่วงสำคัญของเรื่องที่ตั้งคำถามถึงความเป็นไปของประเทศหลายอย่าง (เช่น สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้วนลูปไม่ต่างจากเมื่อ 50 ก่อน) พี่เบียร์ทำให้บทนี้เป็นผู้หญิงที่เปี่ยมพลังและเข้าใจเหตุผลว่าทำไมเธอถึงเชื่อใจและยอมเป็นลมใต้ปีกสามีมาตลอด แต่เราไม่ค่อยชอบมาร์กาเร็ตตอนเป็นแม่บ้านที่แสดงโดยคุณ ‘ดวงใจ’ เท่าไหร่ ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะบทหรือการแสดงหรือการร้องที่ทำให้เป็นแบบนี้ แต่เรารู้สึกว่าดูโดดจากอีก 2 คน มาร์กาเร็ตตอนนี้ดูจะอยู่สายแข็งเพราะโหดและดุมาก ในขณะที่ช่วงที่เหลือจะเป็นผู้หญิงมั่นใจแฝงความรักความอบอุ่นไว้เต็มที่
ส่วนที่ประทับใจคือดนตรีและการแต่งเพลงที่สวยงามมากด้วยฝีมือของคุณ ‘คานธี’ ตอนองค์แรกแอบรู้สึกว่ายังไม่ค่อยลงตัว เพราะเพลงของแม่ดูไม่ค่อยจีนและแปลกๆ แต่พอเรื่องดำเนินไปก็เริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะฉากที่อยู่อังกฤษ และมาพีคที่องค์ 4 เพราะมีฉากตื่นเต้นเยอะและเก็บรายละเอียดได้ดี
ด้วยความที่ดูละครร้องแนวนี้ในโรงเล็กมาก่อนก็แอบรู้สึกว่าเรื่องนี้แอบนานไปหน่อย (เริ่มเล่นประมาณทุ่มครึ่ง ออกจากโรงละครตอนห้าทุ่ม) และพอดูๆ ไปสักพักก็แอบนึกถึง Miss Saigon เป็นระยะ เช่น ฉากการเดินขบวนที่เล่นกับธง และฉากรั้วธรรมศาสตร์ แต่ชอบการออกแบบท่าทางทีเดียว โดยเฉพาะฉากเดินขบวนและต่อสู้ในองค์ 4 ซึ่งผสมบูโตเข้ามาด้วย (มารู้ทีหลังว่าคนออกแบบท่าคือ ‘คาเงะ มุลวิไล’ นี่เอง)
ส่วนที่ไม่น่าให้อภัยที่สุดและไม่เกี่ยวข้องกับละครคือ การปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบเข้ามาชมการแสดง ซึ่งแถวหน้าเราพามาเด็กมาดูด้วย 2 คน และไม่สามารถดูแลเด็กได้ จนคนข้างหน้าหันมามองกันเป็นแถว แน่นอนว่าโทษเด็กไม่ได้เพราะยังควบคุมตัวเองได้ไม่ดีพอ แต่ต้องถามว่าทำไมครอบครัวถึงพามาทั้งที่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และตัวเองก็ดูละครไม่รู้เรื่องอยู่ดีเพราะต้องคอยดูแลเด็ก แล้วทำไมถึงไม่พาออกไปข้างนอกเวลาเด็กป่วน แต่กลับปล่อยให้ทำลายสมาธิคนดูและนักแสดงต่อไปแบบนี้ ซึ่งฝ่ายที่ต้องตำหนิไม่แพ้กันคือเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยให้เข้ามาชม ทั้งๆ ที่มีข้อห้ามแจ้งไว้ชัดเจนในเว็บแล้ว