What’s left: Resonance from the Discarded (2019)

‘What’s left: Resonance from the discarded: แรงสะท้อนจากสิ่งที่ถูกทิ้ง’ เป็นการแสดงเดี่ยว 2 เรื่อง (Double bill) ที่สร้างสรรค์โดยคณะละคร B-Floor และ ดีง์ ซึ่งจัดแสดงที่ WTF Gallery สุขุมวิท 51 ใกล้บีทีเอสสถานีทองหล่อ โดยนำเรื่องราวใกล้ตัวในชีวิตประจำวันมาสะท้อนผ่านการแสดงแบบฟิสิคัล

เมื่อถึงเวลาแสดง ผู้ชมได้ทยอยเดินผ่านบาร์ด้านล่างเพื่อขึ้นบันไดไปชั้น 2 และพบกับพื้นที่การแสดงที่ปกคลุมไปด้วยสีแดงหม่นประดับไฟสลัว คล้ายกับมีผู้เชื้อเชิญเราให้เข้าไปสำรวจห้องร้างที่เต็มไปด้วยอดีตอันเลวร้าย ‘Soapernatural : เช็ด…ห้อง’ เป็นผลงานการกำกับของกวิน พิชิตกุล แห่งดีง์ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากภาพถ่ายซากสัตว์ที่ตายแบบผิดธรรมชาติ ซึ่งเขาพบเจอมาตลอด 1 ปี โดยได้สุรัตน์ แก้วสีคร้าม หรือ ตามใจ สมาชิกใหม่จาก B-Floor มาถ่ายทอดความรู้สึกของผู้ที่เข้ามาเก็บกวาดห้องนั้น เริ่มตั้งแต่การเก็บกวาดซากกางเกงในหลากเฉดที่ดูน่าขยะแขยงเข้าไปเครื่องซักผ้า ก่อนจะกวาดถูพื้นให้สะอาด แล้วอยู่ๆ ก็มีเหตุการณ์แปลกประหลาดชวนหลอนเข้ามาแทรก ไม่ว่าจะเป็นการที่เครื่องดูดฝุ่น หรือไฟในห้องติดๆ ดับๆ และจอทีวีก็ฉายภาพยอดมนุษย์ที่กำลังปราบสัตว์ประหลาดตัวร้าย 

สิ่งที่ปรากฏบนหน้าจอกับสิ่งที่แฝงตัวอยู่ในห้องนั้นปลุกเรื่องราวในอดีตที่เขาแทบจะลืมไปแล้วให้ออกมาหลอกหลอน ความภาคภูมิใจในชัยชนะเมื่อครั้งก่อนได้ผันเปลี่ยนเป็นความรู้สึกผิด ซึ่งเขาไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้ จากการแสดงในช่วงแรกที่ดูผ่อนคลาย บรรยากาศเริ่มตึงเครียดขึ้น เห็นได้ชัดจากร่างกายของนักแสดงที่กล้ามเนื้อบีบเกร็ง จนคล้ายกับว่าเขากำลังจะกลายร่างจากซูเปอร์ฮีโร่ไปเป็นสัตว์ประหลาดตัวหนึ่ง ซึ่งตามใจถ่ายทอดความรู้สึกที่บีบคั้นเหล่านั้นออกมาได้อย่างน่าชื่นชม

หลังจากนั้น ผู้ชมก็ถูกเชื้อเชิญไปขึ้นไปยังชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่แสดงของเรื่อง ‘Coherence : สสารที่คงอยู่ เราล้วนมีผลซึ่งกันและกัน’ ที่ตามใจสลับมากำกับ และแสดงโดยกวิน บรรยากาศและสีสันห้องนี้ต่างจากชั้น 2 อย่างสิ้นเชิง จากความตึงเครียดมืดหม่นก็พลันสดใสด้วยสีสันจากหลอดไฟนีออนที่รายล้อมไปด้วยขยะพลาสติกจำนวนมากที่ถูกมัดรวมอยู่ในถุงหิ้วสารพัดสี ด้านบนยังมีพลาสติกกันกระแทกคอยประคองขยะเหล่านั้นไม่ให้หล่นมายังพื้นด้านล่าง (และหัวคนดู) โดยเศษพลาสติกเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำ ห่อขนม ซองไอติม ล้วนเป็นขยะที่ตามใจสร้างขึ้นภายใน 1 ปี 

ภารกิจของกวินคือการเต้นจินตลีลาประกอบเพลง ‘นกเขาคูรัก’ โดยไม่สัมผัสขยะเหล่านั้นเลย เพราะเมื่อใดที่ร่างกายไปโดนพลาสติก เขาต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่กวินจะทำภารกิจนี้ได้สำเร็จในทีเดียว เขาจึงต้องปฏิบัติภารกิจนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เต้นท่าเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผู้ชมก็ต้องดูกวินทำอะไรซ้ำๆ ฟังเพลงเดิมซ้ำๆ แต่กวินทำให้ไม่รู้สึกเบื่อเลย จากการเต้นท่าทางชวนยียวน(+ยั่วยวน) และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนดูทั่วห้อง ซึ่งทำให้ผู้ชมได้ฉุกคิดถึงบทบาทของตัวเองด้วยว่ามีส่วนแค่ไหนในการสร้างขยะพลาสติกที่ต้องใช้เวลาเกือบ 500 ปีในการย่อยสลาย และได้พยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างไร หรือยังคงละเลยสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลก และหมักหมมปัญหาเอาไว้ จนกว่าสักวันหนึ่งเราจะได้รับผลกระทบจากกระทำที่เกิดจากน้ำมือตัวเอง และเพื่อนร่วมโลก

โดยรวมแล้ว กวินและตามใจสามารถทำหน้าที่ได้ดีทั้งในบทบาทการเป็นผู้กำกับและนักแสดง แม้จะมีสไตล์การเล่าเรื่องที่แตกต่างกัน แต่ทั้ง 2 เรื่องจับประเด็นในสังคมมาถ่ายทอดได้อย่างน่าสนใจ และสามารถพัฒนาต่อไปได้ให้เฉียบคมยิ่งขึ้น อีกสิ่งที่เป็นจุดเด่นของการแสดงนี้คือการออกแบบฉากและองค์ประกอบศิลป์ โดยจีรกิตติ์ สุนทรลาภยศ ที่ช่วยสื่อประเด็นในเรื่องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การแสดงจะมีไปจนถึงวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อีเวนต์เพจ What’s left: Resonance from the Discarded

ภาพจากอีเวนต์เพจ: What’s left: Resonance from the Discarded