“We have to find personal fulfilment. We have to follow our dreams.”

 

“เราเป็นผู้ฟูมฟัก และนั่นคือสิ่งที่สังคมคาดหวังจากพวกเรา”

เกล็นน์ โคลส กล่าวพร้อมปาดน้ำตา หลังจากที่เธอเพิ่งคว้ารางวัลลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมประเภทภาพยนตร์ดรามา ประจำปี 2018 มาครอง

โคลสเล่าว่าการมาสวมบทบาทเป็นภรรยาผู้เก็บงำความรู้สึกในภาพยนตร์เรื่อง ‘The Wife’ ทำให้เธอหวนนึกถึงแม่ผู้ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับพ่อของเธอ อยู่มาวันหนึ่ง แม่ที่ตอนนั้นอายุ 80 กว่าปีแล้ว ได้มาบอกโคลสว่า “แม่รู้สึกว่าตัวเองไม่เคยทำอะไรสำเร็จสักอย่าง” ซึ่งคำพูดนี้ทำให้โคลสรู้สึกว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง และทำให้เธอเรียนรู้ว่า ไม่ว่าสังคมจะคาดหวังให้ผู้หญิงมีบทบาทเช่นไร แต่ผู้หญิงควรเรียนรู้ที่จะไล่ตามความฝันของตัวเองเช่นกัน

“We have our children, we have our husbands if we’re lucky enough, and our partners. But we have to find personal fulfilment. We have to follow our dreams. We have to say, ‘I can do that, and I should be allowed to do that.’”

(เรามีลูก มีสามี หากเราโชคดีพอ และมีคู่ชีวิต แต่เราก็ต้องมีเป้าหมายในชีวิตด้วยเช่นกัน เราต้องไล่ตามความฝันที่มี เราต้องบอกตัวเองว่า “ฉันทำได้ และฉันก็สมควรได้รับการยินยอมให้ทำตามฝัน”)

และเกล็นน์ โคลส ก็สานฝันในวัยเยาว์ได้สำเร็จ จากเด็กน้อยที่นั่งดูภาพยนตร์ดิสนีย์แล้วพูดว่าเธอก็สามารถแสดงได้ไม่ต่างจาก ‘เฮลีย์ มิลส์’ นักแสดงดังแห่งยุค ในวันนี้ โคลสได้พัฒนาฝีมือจนเป็นนักแสดงอาชีพที่มีผลงานทั้งด้านภาพยนตร์ โทรทัศน์ และละครเวที จะครบ 45 ปีในเดือนกันยายนนี้

สิ่งที่เกล็นน์ โคลส กล่าวบนเวทีลูกโลกทองคำ ได้รับการยกย่องไม่น้อยจากผู้ที่ไปร่วมงาน รวมถึงสื่อมวลชนและผู้ชมทางบ้าน โดยมองว่าคำพูดของเธอช่วยปลุก ‘พลังหญิง’ ได้ดี

เราเป็นอีกคนที่ประทับใจคำกล่าวของโคลสตั้งแต่ได้ยินครั้งแรก เพราะดูเป็นธีมเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง ‘The Wife’ ที่พูดถึงบทบาท ‘แม่-ลูก-เมีย’ ของผู้หญิงซึ่งเคยเขียนถึงไปแล้วในบทความก่อนหน้า แม้จะแอบตะขิดตะขวงใจที่โคลสเลือกใช้คำว่า “I should be allowed to do that.” แต่ก็พอเข้าใจได้ว่ายังมีคนบางส่วนที่ยังคงเชื่อเช่นนั้น ซึ่งความจริงแล้วหากผู้คนเปิดใจยอมรับความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ ก็น่าจะช่วยให้เข้าใจความจริงที่ว่าทุกคนเท่าเทียมกัน และมีสิทธิที่จะทำตามความฝันเหมือนกัน โดยไม่ต้องได้รับการยินยอมจากคนอื่น หรือถูกกักขังด้วยขนบนิยมของสังคม และนำความแตกต่างทางเพศสภาพ ทัศนคติ มาสร้างเป็นอคติ ซึ่งแน่นอนว่านอกจากการไล่ล่าหาความฝันแล้ว เราทุกคนยังมีสิทธิในการใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียม และสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้ได้เช่นกัน 🙂