‘Vessel’ การแสดงที่เชิญชวนให้มาสัมผัสถึง ‘ความเป็นหญิง’


บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกทาง:

เว็บไซต์มติชน (วันที่ 5 พฤษภาคม 2565)

หนังสือพิมพ์มติชน (วันที่ 16 พฤษภาคม 2565)


“ชีวิตและสังคมที่คุณอยู่ ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ในร่างกายอันเป็นหญิงของคุณ?” คือคำโปรยจากการแสดงฟิสิคัลที่มีชื่อว่า ‘Vessel’ ซึ่งเชิญชวนผู้ชมให้มาร่วมสำรวจความหมายของ ‘ความเป็นหญิง’ ผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายของนักแสดงหญิง 6 คน และสร้างสรรค์โดยทีมงานที่เป็นผู้หญิงทั้งหมด 

การแสดงจัดขึ้นบนชั้น 2 ของคาเฟ่บรรยากาศดีในซอยพหลโยธิน 5 ผู้ชมถอดรองเท้าและเดินเข้าไปจับจองที่นั่งฝั่งตรงข้ามประตู สีขาวปกคลุมไปทั่วทั้งห้อง ตั้งแต่ผนังไปจนถึงประตูและหน้าต่างที่ถูกปิดด้วยกระดาษ ผ้าผืนใหญ่ที่ขึงไว้เป็นจอ รวมถึงเบาะบีนแบ็กขนาดใหญ่ที่วางไว้หน้าจอ โคมไฟทรงกลมหนึ่งดวงห้อยลงมาจากเพดานส่องแสงสีขาวสว่างจ้า ตัดกับพื้นไม้สีน้ำตาล นักดนตรีหญิงฝีมือดี มณีรัตน์ สิงหนาท เริ่มบรรเลงเสียงด้วยเครื่องสาย

หลังจากนั้นไม่นานนักแสดงหญิงทั้ง 6 ในชุดต่างสไตล์แต่คลุมโทนด้วยสีขาวและสีเบจก็เดินเข้ามาในห้อง พร้อมทักทายผู้ชมที่รู้จักด้วยการโบกมือหรือพยักหน้า ซึ่งทำให้บรรยากาศดูผ่อนคลายและยังทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ว่าพวกเธอก้าวเข้ามาในห้องนี้โดยปราศจากการสวมบทบาทอื่นใด นอกจากการเป็นตัวของตัวเอง จากนั้นแต่ละคนก็หาที่นั่งหรือมุมยืนแล้วสลับกันพูดคนละประโยคที่คล้ายจะบอกเล่าสิ่งที่กำลังรู้สึก ณ ขณะนั้น ในหลากหลายประเด็น ซึ่งแต่ละคนก็รับฟังกันและมีการแซวหรือหัวเราะเมื่อได้ยินคำพูดของคนอื่น จอด้านหลังฉายภาพผู้หญิงทั้ง 6 คนในแต่ละช่วงวัยของชีวิตสลับกันไป รวมถึงคลิปบางส่วนจากการสัมภาษณ์ที่เราเห็นช่วงเวลาที่พวกเธอมีน้ำตา (สร้างสรรค์โดยพวงสร้อย อักษรสว่าง ผู้กำกับภาพมัลติมีเดีย)

ช่วงหนึ่งของการแสดง ทุกคนล้วนเคลื่อนไหวร่างกายคล้ายกันหรือสอดประสานกัน ไม่ว่าจะเป็นการเอนตัวลงนอนราบไปบนพื้น การลุกขึ้นมานั่งแล้วค่อยๆ เอาหัวไปซบไหล่คนข้างๆ หลังจากนั้นการแสดงก็พาเราไปสำรวจประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับ ‘ความเป็นหญิง’ เช่น การมีประจำเดือน เรือนร่างของตัวเอง การเปลี่ยนบทบาทเป็นแม่ การโดนทำร้าย โดยนักแสดงก็จะเคลื่อนไหวท่าทางได้อย่างอิสระตามที่แต่ละคนรู้สึก หรือนำเอาความทรงจำและประสบการณ์ชีวิตที่กักเก็บไว้ในร่างกายมาสะท้อนประเด็นนั้นๆ สลับกับการอ่านข้อความ การเล่นแสงเงาผ่านเครื่องฉายแผ่นใส การฉายข้อความขึ้นกำแพงและจอ รวมถึงเสียงดนตรีที่คอยเสริมอารมณ์ในแต่ละตอน

แม้ผู้ชมอาจไม่เข้าใจเรื่องราวที่เห็นตรงหน้าได้ทั้งหมด แต่ในช่วงเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงของการแสดง ‘Vessel’ ก็ทำให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของนักแสดงและทีมงานในการร่วมกันสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้แก่กัน โดยผู้กำกับ ศศพินทุ์ ศิริวาณิช ได้พัฒนาการแสดงเรื่องนี้มาจากโครงการเวิร์กชอปที่จัดควบคู่ไปกับการออดิชันคัดเลือกผู้แสดงเมื่อต้นปี 2563 เพื่อค้นหาผู้ที่นิยามตัวเองว่าเป็นหญิงที่สนใจที่จะค้นหาและทำความรู้จักร่างกายตัวเอง รวมถึงประสบการณ์ในชีวิตและเรื่องราวในสังคมที่ประกอบสร้างตัวตนของแต่ละคนขึ้นมา และแม้ว่านักแสดงทั้ง 6 คน (กฤษวรรณ รัตนะบรรเจิด, ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์, เบียร์ ยิ่งสุวรรณชัย, รัชย์จิรา จันทรวิวัฒน์, เวลา วาวินน์, อริสรา แก้วม่วง) จะมีทั้งนักเต้นอาชีพและคนที่ไม่ใช่นักเต้นหรือนักแสดงเลยก็ไม่เป็นปัญหา เพราะแต่ละคนต่างไว้วางใจซึ่งกันและกัน รวมถึงกระบวนการการทำงานที่เปิดพื้นที่ให้พวกเธอสามารถถ่ายทอดตัวตนได้อย่างอิสระผ่านเรือนร่างของตัวเอง

นอกจากนั้น องค์ประกอบรายล้อมทั้งหมดในห้องนั้นยังช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการโอบอุ้มได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการออกแบบฉากและเครื่องแต่งกาย (โดยณิชา บูรณะสัมฤทธิ์) ที่ออกแบบเสื้อผ้าให้นักแสดงรู้สึกมั่นใจในการเคลื่อนไหวและสื่อถึงความเป็นผู้หญิงที่มีความหลากหลายแต่ก็หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ขณะที่ห้องสีขาวเมื่อเสริมด้วยแสงที่ออกแบบโดยพรพรรณ อารยะวีรสิทธิ์ ก็ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่บนท้องฟ้าและมีบีนแบ็กเป็นก้อนเมฆปุยที่นุ่มสบายมาคอยรองรับร่างกายและความรู้สึกของทุกคน แต่ในบางครั้งห้องเดียวกันนั้นก็ทำให้รู้สึกร้อนรนอึดอัด บีนแบ็กกลายเป็นวัตถุหนักอึ้งที่ยากเกินจะแบก หรือห้องนั้นกลายร่างเป็นพื้นที่แห่งความสงบที่คอยปกป้องคุ้มครองชีวิตที่อยู่ภายใต้เบาะบีนแบ็กกลมๆ นั้น

การดู ‘Vessel’ ทำให้ได้ทบทวนถึงนิยามความเป็นหญิง รวมถึงค่านิยมหรือบริบททางสังคมที่หล่อหลอมให้แต่ละคนเป็นเช่นนั้น ซึ่งร่างกายของคนเราก็เปรียบเสมือนภาชนะที่สามารถบรรจุเรื่องราว เหตุการณ์ ประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตไว้มากมายเพื่อประกอบสร้างตัวตนอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน ซึ่งการเรียนรู้และยอมรับร่างกาย รวมถึงจิตใจของตัวเองอย่างแท้จริงจะช่วยสร้างพลังและเสริมความมั่นใจให้แต่ละคนกล้าแสดงตัวตนออกมาให้คนอื่นได้รับรู้มากขึ้น นอกจากนั้น ยังช่วยให้เรายอมรับความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้นไม่ว่าอีกฝ่ายจะมีเพศสภาพใด หรือมีความคิดเห็นอย่างไร ทุกคนล้วนมีคุณค่าในแบบฉบับของตัวเอง แต่คำถามสำคัญก็คือสังคมในตอนนี้ได้สร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้ทุกคนได้เป็นอิสระอย่างเท่าเทียมแล้วหรือยัง

‘Vessel’ สร้างสรรค์โดยคณะละครบีฟลอร์ ร่วมด้วยฟอวอทเธียเตอร์ จัดแสดงในเวลา 19.30 น. ระหว่างวันที่ 4 – 8 พฤษภาคม 2565 ที่ Yellow Lane Café ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจ B-Floor Theatre