Social Experiment: Tinder
ถ้าพูดถึงแอปพลิเคชันหาคู่ออนไลน์ที่มีคนใช้งานทั่วโลกมากมาย แน่นอนว่าต้องมีชื่อของ Tinder (ทินเดอร์) ติดอันดับต้นๆ อย่างแน่นอน ซึ่งเราก็ได้ยินชื่อแอปนี้มานานแล้ว แต่เพิ่งตัดสินใจลองโหลดมาเล่นดูเมื่อเดือนก่อน (7 พ.ย. – จำแม่นนนน) ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่า
- อยากรู้ว่าเป็นอย่างไร
- อยากลองเดทกับคนที่รู้จักผ่านโลกออนไลน์
- อยากฝึกจริตกับเขาบ้าง เพราะเพื่อนด่าตลอดว่าเป็นคนตรงๆ ทื่อๆ คิดอะไร ชอบใคร ทุกคนรู้หมด 555+
สรุปโดยรวมก็คืออยากลองเปิดโอกาสให้ตัวเองรู้จักคนใหม่ๆ ในแวดวงอื่นนอกเหนือจากที่เจอในชีวิตประจำวันบ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็ไม่เคยใช้แอปหรือเว็บหาคู่มาก่อน ส่วนหนึ่งเพราะไม่เชื่อว่าจะเวิร์กและเราหวงแหนพื้นที่ส่วนตัวมาก แต่เท่าที่อ่านบทความและถามเพื่อนที่เคยใช้แอปแนวนี้ก็รู้สึกว่าปลอดภัยอยู่ เลยตั้งปณิธานกับตัวเองว่าจะลองใช้ Tinder ดูสัก 1 เดือน หลังจากนั้นจะเป็นอย่างไรค่อยว่ากัน!
– STEP 1 –
หลังโหลด Tinder มา เราก็ต้องใส่รูปและเขียนโปรไฟล์ส่วนตัว ซึ่งแก้วตาก็เขียนไปค่ะ 4 ย่อหน้าเป็นภาษาอังกฤษด้วย ส่วนรูปก็เลือกเอาจากที่ไปเที่ยวมา โดยหลายรูปก็แสดงความเป็นติ่งผู้กำกับหนังที่เราชอบอย่างชัดเจน เรียกได้ว่าถ้าใครเป็นติ่ง ผกก. คนนี้ ต้องกดไลก์แน่ๆ ล่ะ! 55+
ส่วนวิธีใช้ก็ง่ายมาก เราตั้งค่าได้ว่าชอบผู้หญิง ผู้ชาย ทั้งคู่ หรือ LGBT และมองหาคนในช่วงอายุเท่าใด อยู่ห่างจากเรากี่กิโลเมตร โดยแอปก็จะสุ่มรูปคนมาโชว์บนหน้าจอ ถ้าเห็นรูปแล้วสนใจ ก็สามารถกดไปอ่านโปรไฟล์ที่อีกฝ่ายเขียนก่อนได้
หลังจากนั้นก็ถึงเวลาตัดสินใจว่าจะ Swipe left or right ถ้าเลื่อนภาพไปทางซ้ายก็หมายความว่า บ๊ายบาย ไม่สนใจนะจ๊ะ แต่ถ้าเราถูกใจคนไหนก็ต้องเลื่อนภาพไปทางขวา ซึ่งถ้าคนนั้นสนใจเราเช่นกันก็จะขึ้นข้อความว่า “It’s a match!” แล้วทั้งสองฝ่ายก็จะสามารถส่งข้อความติดต่อกันได้
หรือถ้ารู้สึกโอเคกับคนไหนมากๆ ก็สามารถเลื่อนรูปขึ้นไปด้านบนได้ ถือเป็นการ Super Like ซึ่งเราจะรู้ว่ามีคนมา Super Like เราได้ โดยสังเกตจากสัญลักษณ์ดาวสีฟ้าหลังชื่อคนนั้น
ขั้นตอนเหล่านี้เราคิดว่าช่วยกรองคนในระดับนึงแล้วว่าอย่างน้อยคงต้องถูกใจกันประมาณหนึ่ง ซึ่งหลายคนก็เขียนโปรไฟล์ชัดเจนว่าต้องการอะไร เลยตัดทิ้งได้ไม่ยาก รวมถึงระบบการส่งข้อความของ Tinder เองก็อนุญาตให้ส่งได้เฉพาะข้อความและ GIF เท่านั้น จึงวางใจได้ว่าจะไม่มีการส่งรูปไม่พึงประสงค์มาให้ได้ดูแน่ๆ
– WEEK 1 –
สัปดาห์แรกก็ลอง Swipe right วันละไม่เกิน 10 คนและดูผลลัพธ์ ซึ่งก็ทำได้ตามนั้นบ้าง ไม่ได้ตามนั้นบ้าง ส่วนใหญ่คือเลือกมาก ไม่โอเคสักคน จนคนเดิมๆ ที่เคย swipe left ไปวนกลับมาอีก(หลายรอบ 555+) แต่ก็มีคนมา Super Like ประมาณ 10 คน และ Match อีกมากมาย ซึ่งก็มีทั้งคนไทย ญี่ปุ่น และฝรั่ง จนทำให้รู้สึกเหมือน boost self-esteem ประมาณนึงว่าฉันยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ เพราะในชีวิตจริงไม่ค่อยรู้สึกแบบนั้น 555+
เอาจริงๆ ก็สนุกทีเดียวกับการคุยกับคนใหม่ๆ เพราะก็มาหลากแนว หลายอาชีพ เราก็เพิ่งเล่นก็งงๆ ไปว่านั่นคืออะไร นี่คืออะไร แต่ก็ตั้งใจว่าจะไม่เปิดเผยอาชีพการงานที่ทำ ซึ่งก็มีบางคนก็ไปค้นเจอได้ซะงั้น เลยรู้สึกว่าต้องระวังตัวมากขึ้น(จากเดิมที่ระวังมากอยู่แล้ว) หรือบางคนคุยกันไม่กี่ประโยค พอเราถามว่าชื่ออะไร กลับกด Unmatch ทำให้ส่งข้อความหาไม่ได้อีก งงค่ะ บทสนทนาจบภายในเวลาไม่ถึง 2 นาที
เลยทำให้ยิ่งรู้สึกถึงความฉาบฉวยของการใช้แอปออนไลน์แบบนี้ที่อะไรๆ ดูจะเร็วไปเสียหมด สามารถตัดสินคนได้แค่เพียงจากในรูปหรือข้อความสั้นๆ ที่เห็น เพราะบางทีจะตัดสินว่าชอบ ไม่ชอบ ดูจากแค่นั้นก็จะเร็วไปรึเปล่านะ บางคนก็ไม่ได้รู้สึกอะไร ทำไมไม่มีปุ่มกลางๆ มาให้กดบ้างนะ
– WEEK 2 –
คนรู้จักมาทักว่าเล่น Tinder ด้วยเหรอ ก็ฮาๆ กันไป หนึ่งในนั้นก็ทักว่าเราเขียนโปรไฟล์ยาวยังกับเขียนรายงาน เลยมาแก้โปรไฟล์ให้สั้นลงเหลือ 3 ย่อหน้า (นี่สั้นแล้ว?)
มีผู้รอดที่ยังคุยจากสัปดาห์แรกมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็มีคนที่รู้สึกโอเคด้วยคนนึง แต่สุดท้ายเขาก็ Unmatch ไป ก็งงเหมือนกัน เพราะข้อความสุดท้ายที่ส่งไปคือถามว่า “วันหยุดชอบทำอะไร” ไม่อยากตอบก็บอกตรงๆ ก็ได้นะ 555+ หรืออีกคนก็พยายามนัดเจอตลอด แต่เราก็ปฏิเสธทุกครั้งเพราะไม่ได้อยากเจอขนาดนั้น
สัปดาห์นี้เลยคิดได้ว่าการคุยกับคนใน Tinder มันไม่ได้ทำให้รู้สึกผูกมัดอะไร อาจเพราะเราไม่ได้ชอบเขา เราเลยเฉยๆ ว่าเขาจะทักมารึเปล่า ไม่ได้ร้อนรนว่าเขาจะตอบหรือไม่ตอบข้อความ จะไปคุยกับใคร หรือจะ Unmatch เรารึเปล่า เราก็ไม่ได้แคร์ แค่รู้สึกว่าทำไมคนเราฉาบฉวยจัง
หรือการคุยกันแบบนี้อาจโอเคกว่าการคุยแบบมีธงชัดเจนว่าฉันชอบคนนี้ อยากคุยกับคนนี้ รึเปล่าก็ไม่รู้นะ เพราะอย่างน้อยเราก็ไม่ต้องเอาอารมณ์ไปผูกกับการกระทำของอีกฝ่ายมากจนเกินไป
ที่รู้สึกไม่ชอบอีกอย่างคือ ไม่ใช่ทุกคนที่จริงใจในการคุย เช่น คนมีแฟนอยู่แล้วก็มาหาคนคุยแก้เหงา(หรือมากกว่านั้น) บางคนก็เพิ่งแต่งงานแต่ก็ยังเล่นซะงั้น(คิดแง่ดี อาจลืมลบแอป) … แต่ในชีวิตจริงก็มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นไม่ใช่เหรอ
– WEEK 3 –
คนที่คุยต่อเกือบทั้งหมดเป็นต่างชาติ ซึ่งแก้วตาก็เริ่มหาย ไม่ค่อยเปิดแอป ไม่ Swipe ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะวุ่นๆ กับการเตรียมตัวเดินทาง
– WEEK 4 –
ความตั้งใจแรกคืออยากลองเล่น Tinder ที่ต่างประเทศ เพราะอยากรู้ว่าจะแตกต่างจากที่ไทยรึเปล่า แต่ตอนไปก็ไม่ได้ซื้อซิมการ์ด แถมเล่นเน็ตได้เฉพาะที่โรงแรม และไม่ได้รู้สึกอยากเล่นอะไร ก็เลยมากดดูพอเป็นพิธีวันท้ายๆ ก่อนกลับให้เพื่อนส่อง
หลายคนที่อ่านถึงบรรทัดนี้คงจะพอเดาได้ว่าการทดลองครั้งนี้ของแก้วตาจะเป็นอย่างไรใช่ไหมคะ 55
– CONCLUSION –
การเล่น Tinder ของเราจบลงโดยที่ใช้แอปไม่ครบ 1 เดือนตามที่ตั้งใจไว้ตอนแรก แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจอะไรเยอะขึ้น … ในแบบของเรา
เราได้รู้ว่าจริงๆ แล้วเราชอบคนแนวไหน จากเดิมที่รู้สึกว่าเป็นนามธรรมมากกกกก ตอนนี้ก็ได้เห็นว่า อ้อ ชอบคนยิ้มสวย(ยิ้มจริงๆ ไม่ใช่ความหมายอื่นนะ!) ชอบคนรักสัตว์ ซึ่งรูปถ่ายที่แต่ละคนเลือกใช้ก็แสดงตัวตนของคนนั้นได้มากทีเดียว เช่น บางคนพรีเซนต์ตัวเองไม่เก่งเลย ลงแต่ภาพที่ไม่เห็นตัวเอง ดูไม่มั่นใจในสิ่งที่เป็น ในขณะบางคนก็พรีเซนต์ตัวเองเยอะเกินไป หรือโชว์มากเกินไป นอกจากนั้นรูปที่ลงก็แสดงทัศนคติของคนนั้นต่อสิ่งรอบตัวได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าดูแล้วไม่เข้ากับสิ่งที่เราเชื่อก็คงต้องเลื่อนไปทางซ้ายอย่างเสียไม่ได้ แต่เราก็ชอบอ่านโปรไฟล์ของแต่ละคนนะ เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตน ทัศนคติ และนิสัยได้ดีที่สุด
สุดท้ายแล้วเหตุผลที่ทำให้อยากเล่น Tinder ทั้ง 3 ข้อในตอนแรก แก้วตาก็ทำสำเร็จไปแค่ข้อแรกข้อเดียว เพราะหาคู่เดทออนไลน์ไม่ได้ และก็ยังแก้นิสัยทื่อๆ ของตัวเองไม่ได้สักที (หรือคงเปลี่ยนยากแล้ว ณ จุดนี้) เพราะเอาเข้าจริงเราก็ไม่ได้อยากคุยกับคนมากมาย และไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นดีใจที่จะเจอใครใหม่ เลยรู้สึกไม่แฟร์ถ้าจะคุยกับใคร โดยที่อีกฝ่ายอาจหวังอะไรมากกว่าสิ่งที่เราจะให้ได้ ซึ่งก่อน Uninstall แอป เราก็ไปบอกทุกคนในลิสต์ที่ยังเหลืออยู่ว่าเราจะเลิกเล่น Tinder แล้วนะ ขอบคุณสำหรับมิตรภาพที่ผ่านมา
และช่วงเวลาไม่ถึงเดือนนี้เองที่ทำให้เราคิดได้ว่าอะไรคือเหตุผลข้อที่ 4 ที่ทำให้เราอยากลองเล่น Tinder ในตอนแรก
… ตอนแรกอยากเป็นชิคฟลิคใสๆ ดันจบเป็นหนังหว่องซะงั้น …
แก้วตา
05.12.16