Set Speech Free

 

“ฟังสิ โลกช่างเงียบงันเมื่อไร้เสรีภาพในการพูด”

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม สำนักข่าวกระทรวงการต่างประเทศของสวีเดนได้ปล่อยคลิปความยาวนาทีกว่าๆ มาทางเฟซบุ๊ก ซึ่งดูน่าสนใจไม่น้อยเพราะมีภาพของเหล่านักแสดงชื่อดังทั้ง ‘เอ็มมา วัตสัน’ ‘ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ’ และเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ ‘มาลาลา ยูซาฟไซ’

สิ่งที่ทำให้คนที่กดเข้าไปดูต้องแปลกใจคือ ทำไมคนดังเหล่านี้ไม่มีเสียงพูด?

 

 

 

หากไร้เสรีภาพในการพูด นักแสดงสาว ‘เอ็มมา วัตสัน’ ในฐานะทูตสันถวไมตรีของสหประชาชาติ คงไม่สามารถขึ้นพูดที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติที่นิวยอร์กได้ในวันที่ 20 กันยายน 2014 เพื่อเปิดตัวแคมเปญ ‘HeForShe’ ซึ่งเธอมีส่วนริเริ่มในการเรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในทุกด้าน พร้อมยอมรับว่าเธอเป็น ‘เฟมินิสต์’

 

 

หากไร้เสรีภาพในการพูด นักแสดงออสการ์ ‘ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ’ ในฐานะผู้ส่งสารสันติภาพแห่งสหประชาชาติ (UN Messenger of Peace) คงไม่สามารถสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดจากน้ำมือมนุษย์ได้ในพิธีเปิดการลงนามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ทั่วโลกมุ่งแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในวันคุ้มครองโลกหรือ Earth Day เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ณ กรุงนิวยอร์ก

 
หากไร้เสรีภาพในการพูด ‘มาลาลา ยูซาฟไซ’ หญิงแกร่งแห่งปากีสถาน คงไม่มีโอกาสได้พูดถึงความสำคัญของการศึกษา ซึ่งเธอเกือบต้องแลกมาด้วยชีวิต ต่อหน้าสมัชชาเยาวชนแห่งสหประชาชาติกว่า 500 คน ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2013 ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นวัน ‘มาลาลา’

เธอขึ้นกล่าวว่า “เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2012 กลุ่มตอลิบานยิงฉันที่ศีรษะด้านซ้าย พวกเขายิงเพื่อนๆ ของฉันเช่นกัน พวกเขาคิดว่าลูกกระสุนเหล่านั้นจะทำให้พวกเราเงียบ แต่พวกเขาล้มเหลว เพราะความเงียบนั้นกลับกลายเป็นสุรเสียงนับพัน กลุ่มผู้ก่อการร้ายคิดว่าสามารถเปลี่ยนเป้าหมายและจะหยุดความฝันของฉันได้ แต่ไม่มีสิ่งใดสามารถเปลี่ยนชีวิตฉันได้นอกจากการที่ความอ่อนแอ ความกลัว และความสิ้นหวังได้ตายไป ในขณะที่ความแข็งแกร่ง พลัง และความกล้าหาญ ได้ก่อกำเนิดขึ้น”

หนึ่งปีหลังจากนั้น เธอเป็นผู้ที่อายุน้อยที่สุดที่สามารถคว้ารางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ไปครองด้วยวัย 17 ปี

 

คำตอบง่ายๆ ก็คือ นี่เป็นการจำลองว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากเราไม่สามารถพูดแสดงความคิดเห็นออกมาได้ เพราะในขณะที่ประเทศอื่น ประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชนอาจไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดมากนัก แต่ในประเทศสวีเดนนั้นเปิดกว้างรับฟังทุกความคิดเห็น และยังมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเสรีภาพสื่อมานานถึง 250 ปี เลยต้องมาฉลองด้วยการทำคลิปนี้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงเสรีภาพของการแสดงออกทางความคิดที่ถือว่าเป็นเสาหลักของประชาธิปไตยและสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ แถมยังช่วยกระตุ้นการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์อีกต่างหาก

 

หันมามองประเทศไทย Freedom House รายงานว่าสื่อไทยปราศจากเสรีภาพและสถานการณ์แย่ลงตั้งแต่ปี 2014 โดยมีการปิดกั้นข้อมูลด้านสังคมและการเมืองบางส่วน รวมถึงมีการจับกุมผู้แสดงความเห็น แชร์ข้อมูล หรือแม้แต่กด ‘ไลก์’ บนโลกออนไลน์ ซึ่งก็น่าคิดว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไปหากร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ที่เพิ่มอำนาจตรวจสอบให้แก่เจ้าหน้าที่ ผ่านการพิจารณาและประกาศใช้ (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก iLaw)

 

แก้วตา
04.12.16