กระเบนราหู: เพราะเราต่างเป็นอื่น
“แด่โรฮิงญา” คือข้อความขึ้นต้นของ ‘กระเบนราหู’ ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกที่เขียนบทและกำกับโดยพุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวของชาวโรฮิงญาเพียงอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะไร้สิทธิ์ ไร้เสียง ไร้ที่ทาง ของ ‘คนชายขอบ’ อันเกิดจาก ‘ทัศนอคติ’ ของผู้คนในสังคม
‘กระเบนราหู’ เล่าเรื่องราวของชายชาวประมงผมทอง (แสดงโดยวัลลภ รุ่งกําจัด) กับชายแปลกหน้าผู้บาดเจ็บ (แสดงโดยอภิสิทธิ์ หะมะ) ที่เขาได้ช่วยเหลือออกมาจากป่า แม้ชายปริศนาจะไม่พูดโต้ตอบสักคำ แต่หนุ่มประมงก็ยอมรับเขาเข้ามาในชีวิต พร้อมตั้งชื่อให้ว่า ‘ธงไชย’ ตามชื่อของนักร้องซูเปอร์สตาร์ของไทย หลังจากที่ทั้งคู่เริ่มสนิทกัน วันหนึ่งหนุ่มผมทองกลับหายตัวไป สวนทางกับการกลับบ้านของ ‘สายใจ’ อดีตภรรยา (แสดงโดยรัสมี เวระนะ)
ตัวละครหลักทั้งสามต่างรู้สึก ‘เป็นอื่น’ ในเมืองชายแดนริมทะเลแห่งนี้ แม้ชายประมงผมทองจะมีที่อยู่ มีงานหาเลี้ยงชีวิต แต่เขากลับไร้ชื่อ ไม่มีใครรู้ได้ว่าเขามาจากไหน และจะไปที่ใด ขณะที่สายใจซึ่งดูเหมือนจะปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้เป็นอย่างดี แต่เธอกลับมีชีวิตอยู่อย่างไร้ที่ทาง และยังคงโหยหาทหารเรืออดีตคนรักที่ทิ้งเธอไปพร้อมลูกในท้องของเธอ ส่วนชายปริศนานั้นไม่มีทั้งเสียง ชื่อ ที่อยู่ ความฝัน ปัจจุบัน และอนาคต
ความสัมพันธ์ของชาวประมงกับชายปริศนาในช่วงแรกนั้นเป็นไปอย่างละมุนละม่อม และอบอวลไปด้วยความอบอุ่นจากการที่หนุ่มผมทองเปิดรับธงไชยเข้ามาในชีวิต และคอยฝึกสอนทักษะที่จำเป็นไม่ว่าจะเป็นการขี่มอเตอร์ไซค์ รวมถึงการดำน้ำ ซึ่งเมื่อฝึกฝนไปเรื่อย ๆ ชายแปลกหน้าก็สามารถทำแทนหนุ่มประมงได้หลายอย่าง และเมื่อชายผู้ไร้ชื่อหายตัวไป ธงไชยก็ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาแทนที่เขาได้อย่างแนบเนียน
แม้ชายแปลกหน้าจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับดินแดนแห่งนี้มากขึ้น มีชื่อ มีบ้าน มีคนรัก แต่สุดท้ายแล้ว เขาก็ไม่สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ในดินแดนแห่งนี้ได้อย่างแท้จริง คล้ายกับว่าเขายืนอยู่ริมขอบของความเป็นชายขอบ ที่ไม่มีสิ่งใดสามารถทลายอคติที่มีต่อความแตกต่างทางเชื้อชาติ รวมถึงพรมแดนประเทศอันเป็นสิ่งสมมติลงได้เลย และเมื่อไม่เหลือใครที่มองเขาในฐานะ ‘มนุษย์’ ซึ่งมีชีวิตจิตใจ เขาจึงต้องออกเดินทางเพื่อเสาะหาที่หลบภัยใหม่ คล้ายกับกระเบนราหูที่ต้องหาที่พักพิงเพื่อหลบมรสุม
สิ่งที่โดดเด่นในภาพยนตร์เรื่องนี้คืองานด้านภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่พุทธิพงษ์เชี่ยวชาญมากว่า 10 ปี ที่นอกจากจะสวยงามชวนดึงดูดสายตาแล้ว ยังสื่อสารประเด็นของเรื่องได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นภาพป่ารกชัฏที่ปกคลุมไปด้วยแสงประดิษฐ์อันแปลกปลอมจากธรรมชาติ และการดำรงอยู่ของ ‘มนุษย์ไฟ’ ผู้ไล่ล่าหาความต่าง โดยไม่ตระหนักถึงความผิดปกติของตัวเอง รวมถึงแสงไฟในงานวัด ไฟดิสโก้ในห้องของหนุ่มผมทอง การใช้กล้องแทนสายตาในการจ้องมองกันและกัน ที่สื่อถึงความเลื่อนไหลของอัตลักษณ์และความเป็นอื่นของคนและสถานที่ นอกจากนั้น ยังมีภาพเรือไม้ขนาดเล็กซึ่งโคลงเคลงไปตามคลื่นทะเลที่ชาวบ้านต้องพึ่งพิงในการหาเลี้ยงชีพ ที่ย้อนแย้งกับภาพเรือเหล็กขนาดใหญ่อันผุพัง และไม่เอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตใด ๆ ของผู้คน คล้ายกับจะมีหน้าที่เป็นเพียงอนุสรณ์แห่งความหลังเท่านั้น โดยเรือทั้งสองประเภทต่างมีธงปักอยู่ ธงขาดวิ่นที่ปลิวไสวไปตามสายลม ซึ่งชวนตั้งคำถามว่านี่คือ ‘ธงไชย’ ที่แสดงถึงชัยชนะอะไรของดินแดนแห่งนี้
นอกจากนั้น เสียงของภาพยนตร์ยังทำออกมาได้อย่างน่าสนใจ โดยดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์ที่ย้อนแย้งกับภาพธรรมชาติยังช่วยขับประเด็นความเป็นอื่นออกมายิ่งขึ้น รวมถึงฉากในตอนท้ายของเรื่อง ที่อัญมณีหลากสีสันค่อย ๆ แหวกตัวขึ้นจากผืนดิน โดยมีเสียงร้องประสานคล้ายเสียงร่ำไห้อันไร้ศัพท์ดังยาวเกือบ 10 นาที สะท้อนถึงชะตากรรมของผู้อพยพและคนชายขอบที่ไม่มีใครพยายามทำความเข้าใจพวกเขาในฐานะ ‘มนุษย์’ ได้เป็นอย่างดี
น่าเสียดายที่บทพูดในเรื่องค่อนข้างแปลกและไม่เป็นธรรมชาติ รวมถึงการเลือกให้ตัวละครใช้ภาษากลาง แทนที่จะเป็นไปตามบริบทของพื้นที่ชายแดน ซึ่งทำให้พลังของหนังลดลงมาทันทีที่ตัวละครเปิดปากพูด โดยเฉพาะในฉากที่สายใจร้องเพลงที่ดูประดักประเดิด ไม่ค่อยเข้ากับบริบทของเรื่องที่ปูมาสักเท่าไร อย่างไรก็ตาม ด้วยความโดดเด่นด้านภาพ เสียง และประเด็นที่ต้องการนำเสนอ ก็ทำให้ ‘กระเบนราหู’ เป็นภาพยนตร์ที่ควรค่าสำหรับการชมในโรงภาพยนตร์
ภาพยนตร์เรื่อง ‘กระเบนราหู (Manta Ray)’ ฉายเปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส และคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาขา Orizzonti เมื่อปี 2561 ตามด้วยอีกหลายรางวัลจากต่างแดน โดยล่าสุด ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ฤกษ์ฉายรอบปฐมทัศน์ในไทยที่เทศกาลภาพยนตร์อาเซียน กรุงเทพมหานคร 2562 และได้รางวัล Best ASEAN Film มาครอง
ติดตามรอบฉายได้ที่เฟซบุ๊กเพจ www.facebook.com/krabenrahu
ภาพจาก: กระเบนราหู, IFFR, IMDB
*บทความนี้เขียนขึ้นครั้งแรกระหว่างการเข้าร่วมเวิร์กชอป Critics’ Circle จัดโดย Purin Pictures ระหว่างเทศกาลภาพยนตร์อาเซียน กรุงเทพมหานคร 2562 ซึ่งผู้เขียนได้ปรับปรุงบทความก่อนเผยแพร่ในครั้งนี้