#LaScala ลา สกาลา 5 กรกฎาคม 2563

จำไม่ได้แน่ชัดว่าหนังเรื่องแรกที่ได้ดูที่ ‘สกาลา’ คือเรื่องอะไร แต่คุ้นว่าเป็นหนังฝรั่งเศส ซึ่งอาจจะเป็นเรื่อง Paris, Je T’aime (2006) ซึ่งฉายที่นั่นแค่ที่เดียวในช่วงเดือนกรกฎาคมเมื่อ 13 ปีก่อน แต่สิ่งที่จำได้แม่นยำก็คือวันนั้นไปดูหนังคนเดียวท่ามกลางโรงขนาดใหญ่แบบนี้เป็นครั้งแรก แล้วก็อิ่มเอมมากกับการได้ดูหนังภาษาต่างประเทศที่มีการเล่าเรื่องแปลกไปจากหนังที่เคยดู

หลังจากนั้นก็แวะเวียนไปดูหนังที่สกาลาและลิโดเป็นประจำ เพราะอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย ตั๋วราคาไม่แพง แถมยังมีหนังจากหลากหลายชาติ ช่วยเปิดโลกการดูหนังในตอนนั้นให้กว้างขึ้นมาก จนสนใจศาสตร์และศิลปะของภาพยนตร์ขึ้นเรื่อยๆ

พอก้าวสู่วัยทำงาน ชีวิตก็ยังวนเวียนอยู่กับโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ ทั้งไปดูหนังและไปทำงาน ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโรงหนัง ตั้งแต่โรงหนังสยามที่เคยตั้งใจไว้ว่าจะไปดูแต่ก็ไม่มีโอกาส พอมาถึงคราวของลิโดซึ่งปิดตัวลงเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม เมื่อ 2 ปีก่อนก็มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหารและพนักงานหลายคน ได้ขึ้นไปยังห้องพนักงาน ได้อยู่ดูหนังเงียบเรื่อง Sherlock Jr. (Buster Keaton, 1924) ก่อนออกจากโรงมาเจอผู้บริหารและพนักงานยืนตั้งแถวขอบคุณ ซึ่งวันนั้นเราก็ยังคงอยู่รอส่งลิโดจนวินาทีสุดท้ายที่ไฟหน้าโรงดับลง

ผ่านไปเพียง 2 ปี ก็ถึงเวลาที่ต้องบอกลาสกาลา หลายสิบปีที่ผ่านมานี้ก็ได้เห็นสกาลาในหลากหลายรูปแบบเช่นกัน เป็นทั้งโรงหนัง โรงละคร เวทีคอนเสิร์ต พื้นที่แสดงสแตนด์อัพ คอมเมดี้ และยังเคยจัดเทศกาล Microfestival – Live at the Scala ซึ่งมีการแสดงและงานศิลปะหลากหลายแนวจัดอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ของสกาลาโดยศิลปินไทยและต่างชาติ ที่ทำให้ได้ไปสำรวจซอกหลืบของสกาลาและได้เห็นโรงหนังแห่งนี้ในมุมมองที่แตกต่างออกไป ก่อนจะได้มาดูหนังเรื่อง Blow-Up (Michelangelo Antonioni, 1966) ส่งท้ายเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา​ และออกมาเจอผู้บริหารและพนักงานยืนตั้งแถวขอบคุณไม่ต่างจากเมื่อ 2 ปีก่อน การได้ดูหนังที่สกาลาเป็นครั้งสุดท้ายตอกย้ำว่าที่นี่ยังคงเป็นโรงหนังที่ทำให้เราตื่นเต้นและอบอุ่นกับการดูหนังได้เสมอ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผูกพันกับที่นี่ เราก็ได้พบเจอคนมากมายและมิตรภาพดีๆ เสมอมา


ขอบคุณครอบครัวตันสัจจาที่สร้างโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์และรักษาให้อยู่คู่คนรักหนังมากว่าครึ่งศตวรรษ รวมถึงพนักงานทุกคนที่ร่วมสร้างความทรงจำที่มีคุณค่าให้กับพวกเราทุกคนมาโดยตลอดค่ะ

การจากไปของสกาลาในวันนี้ไม่ได้หมายถึงการบอกลาอาคารที่มีสถาปัตยกรรมงดงามและมีรางวัลการันตี หรือการอำลาพนักงานเก็บตั๋วในสูทเหลือง แชนเดอเลียร์ หรือป้ายไฟที่ส่องสว่างเป็นครั้งสุดท้ายเท่านั้น แต่นี่คือการสูญเสียโรงหนังสแตนด์อะโลนแห่งสุดท้ายของกรุงเทพฯ ของทุกคน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของวงการภาพยนตร์ในไทย สะท้อนให้เห็นเสน่ห์ของโรงหนังที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของผู้คน รวมถึงวัฒนธรรมการดูหนังในอดีตที่ต้องออกจากบ้านมาเพื่อดูหนังจริงๆ และหล่อหลอมคนรักหนังมานานถึง 51 ปี ซึ่งแตกต่างจากยุคโรงหนังมัลติเพล็กซ์อย่างสิ้นเชิง

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจากไปของสกาลาในวันนี้จะไม่ได้เป็นการสิ้นสุดของพื้นที่ทรงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมในประเทศนี้