Hedwig and the Angry Inch [2001]
Hedwig and the Angry Inch [2001]
Directed, written and starred by John Cameron Mitchell
★★★★★
A quest to find myself,
ร่อนเร่หาตัวตนที่หล่นหาย
1. Hansel Schmidt … เด็กน้อยคนหนึ่งที่เติบโตมาในเยอรมนีฝั่งตะวันออก แม้อิสรภาพจะอยู่ใกล้แค่เอื้อม เพียงแค่ก้าวพ้นกำแพงไป แต่คอนกรีตขนาดใหญ่นี้ไม่ได้ทลายลงง่ายๆ เขาจึงถูกขังในดินแดนคอมมิวนิสต์ที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง และผู้คนที่เย็นชา คงมีเพียงจินตนาการ และเสียงเพลงเท่านั้นที่พอจะหล่อเลี้ยงจิตใจ
2. Hedwig Schmidt … ความรักทำให้คนเปลี่ยนไป คราวนี้ความรักได้เปลี่ยน Hansel ให้กลายเป็น Hedwig มีคนบอกว่าจะพาเขากระโดดข้ามกำแพงไปสู่อิสรภาพ แต่ต้องแลกกับสิ่งสำคัญในชีวิต นั่นคือการทิ้งความเป็น Hansel ไปทั้งหมด ซึ่งสุดท้ายก็ทำไม่ได้ อาจเพราะเบื้องบนไม่อยากให้เขาลืมว่าเคยเป็นใคร เลยเหลือบางอย่างไว้เตือนสติ บางสิ่งที่เรียกว่า “Angry Inch”
3. Hedwig Robinson … ชื่อนี้ทำให้การเดินทางสู่อเมริกา ดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นเรื่องง่าย แต่ชีวิตก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่ฝันไว้ สิ่งที่พยายามและเสียสละมาทั้งหมดดูจะล่มสลายภายในปีเดียว ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องยืนหยัดด้วยตัวเองในต่างแดน ทั้งที่เป็นคนต่างถิ่น ด้วยเพศสภาพที่แตกต่าง แถมยังถูกคนที่ไว้ใจหักหลังอย่างเจ็บปวด จนต้องออกเดินทางไปต่างรัฐเพื่อทวงคืนความยุติธรรม
การเดินทางอันแสนยาวไกล พอมองย้อนกลับไปแล้ว ได้แต่ถามตัวเองว่าตอนนี้ฉันเป็นใคร …
A quest to find my other half,
ร่อนเร่หาครึ่งหนึ่งที่หล่นหาย
ในปรัชญาวิวาทะ Symposium ของเพลโตนั้น Aristophanes ได้เล่าถึงจุดกำเนิดของความรักว่า เมื่อก่อนมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตกลมๆ มี 2 หน้า 4 มือ 4 ขา และแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามแหล่งกำเนิด หากเกิดจากดวงอาทิตย์ มนุษย์จะมีร่างเป็นชาย 2 คนผูกติดกัน หากเกิดจากโลก ก็จะเป็นผู้หญิงติดกัน 2 คน ส่วนมนุษย์ที่ผูกติดหญิงกับชายไว้นั้นมาจากดวงจันทร์ แต่โชคร้ายที่พระเจ้าหวาดกลัวเหล่ามนุษย์ จึงพรากเราออกจากคนที่เคยอยู่เคียงข้าง และทำให้พวกเราต้องเดินทางค้นหาอีกครึ่งหนึ่งที่หายไป เพื่อเติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์อีกครั้ง และฉันก็ได้เจอเธอ …
1. Luther Robinson หรือ Sugar Daddy … เขารักฉัน และช่วยพาฉันหนีจากบ้านเกิด แต่เขาไม่ใช่อีกครึ่งหนึ่งของฉัน
2. Tommy Gnosis จากเด็กไร้เดียงสา ฉันปั้นเขาให้เป็น Rock Star เพราะฉันเชื่อว่าเขานี่แหละคืออีกครึ่งหนึ่งที่ฉันตามหา เขานี่แหละที่จะมาเติมชีวิตฉันให้เต็ม แต่เขากลับตอบแทนฉันโดยการพรากทุกอย่างไป แล้วจะให้ฉันศรัทธาความรักอีกเหรอ ฉันจะกล้าเปิดใจกับใครได้อีก
3. Yitzhak สามีคนปัจจุบันที่ฉันไม่เคยได้เห็นรอยยิ้มเขาอีกเลยหลังจากที่เราพบกันครั้งแรก การได้บางสิ่งต้องแลกกับการสูญเสียบางอย่าง ฉันใช้กฎนี้กับเขา และดูเหมือนว่ามันจะพรากทุกอย่างไปจากเขา แม้กระทั่งความสุข นี่ฉันเห็นแก่ตัวเกินไปรึเปล่า ฉันแค่หวังใช้ประโยชน์จากเขา หรือจริงๆ แล้วฉันก็ไม่ต่างอะไรไปจาก Tommy
“Hedwig and the Angry Inch” เป็นการเดินทางทั้งภายนอกและภายในของ Hedwig ที่นอกจากจะทำให้เข้าใจความรักมากขึ้นแล้ว ยังได้รู้จักตัวเองมากขึ้น โดย Hedwig เป็นคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอ ไม่ว่าจะเรื่องของเพศสภาพ การเมือง และแม้ว่าจะพยายามหนียังไง ก็หนีไม่พ้น จึงไม่แปลกที่เธอจะรู้สึกแปลกแยก (out of place) เป็นตัวประหลาดอยู่เสมอไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เพราะทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ใจเธอปรุงแต่งขึ้นเอง จากการที่ไม่ยอมรับตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง และพยายามเปลี่ยนเป็นคนอื่นเรื่อยๆ เพราะกลัวจะไม่มีใครยอมรับสิ่งที่เธอเป็น จนในที่สุดตัวตนของเธอก็ค่อยๆ ลบเลือนหายไป
ตลอดเวลาที่ไขว่คว้าหาครึ่งหนึ่งที่หายไปเพื่อให้มาเติมเต็มชีวิตตัวเอง Hedwig ก็ลืมไปอีกเช่นกันว่า ตัวเธอเองก็มีพลังที่จะเติมเต็มชีวิตตัวเองได้ แต่คงเพราะเธอสูญเสีย self-esteem และไม่รู้แม้กระทั่งว่าตัวเองเป็นใคร จึงพยายามดิ้นรนหาคำตอบจากคนอื่น ซึ่งก็เหมือนในเพลง “Wicked Little Town (Reprise)” บอกไว้ว่า สุดท้ายแล้วมันไม่มีหรอกคนรักที่ถูกกำหนดมาแล้ว ควรจะปล่อยวาง เลิกยึดติด และก้าวต่อไปให้ได้ด้วยตัวเอง
ดูหนังเรื่องนี้แล้วได้คิดทบทวนอะไรหลายอย่าง เวลาเห็นฉากที่ Hedwig กับ Tommy อยู่ด้วยกันแล้วรู้สึกว่าความรักนี่มันช่างสวยงามจริงๆ โดยเฉพาะฉากในบ้าน Hedwig ที่ทำให้เห็นว่าความรักเป็นอมตะ ความรักสรรค์สร้างสิ่งใหม่บนโลก แต่สุดท้ายแล้วความรักจะยั่งยืนได้อย่างไร หากคนสองคนไม่ยอมรับกันอย่างแท้จริง เปรียบได้กับสวน Eden ที่ดูสมบูรณ์แบบได้พังทลายลง จนทำให้ทั้งคู่ก็ถูกพรากจากสวรรค์ไปตลอดกาล ไม่ต่างจากอดัมและอีฟ … ซึ่งพอได้ฟัง Tommy ร้องเพลง “Wicked Little Town (Reprise)” ก็ยิ่งตอกย้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นงดงามแค่ไหน แต่สุดท้ายชีวิตก็ต้องก้าวต่อไป
Yitzhak เป็นตัวละครอีกตัวที่น่าสนใจ เพราะเธอก็ไม่ต่างจาก Hedwig ที่ต้องจากบ้านเกิดมา สูญเสียตัวตน จนไร้ความสุข ถึงเธอจะเทิดทูน Hedwig แต่สายตาเธอก็เศร้าเสมอ และเต็มไปด้วยคำถามว่าเธอจะรัก Hedwig ได้หรือ เธอจะยอมทิ้งตัวตนของเธอไปตลอดจริงหรือ โดยฉากเพลง “Midnight Radio” ได้ไขคำตอบและคลายปมต่างๆ ในเรื่อง การได้ปลดปล่อยตัวเองอย่างเต็มที่ และเป็นที่ยอมรับ ย่อมดีกว่าการฝืนทนเป็นคนอื่นอย่างแน่นอน
สุดท้ายแล้วการที่ตัวละครเรียนรู้ที่จะปลดเปลื้องพันธนาการชีวิตออกทั้งหมดและยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็น ก็ทำให้แต่ละคนเป็นอิสระและพร้อมที่จะเผชิญโลกด้วยตัวตนที่แท้จริง โดยไม่ต้องปิดบังหรือขวนขวายหาอีกครึ่งหนึ่งของชีวิตมาเติมเต็มอีกต่อไป
ด้วยความที่เป็นมิวสิคัลมาก่อนทำให้การเล่าเรื่องผ่านเพลงทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้ Stephen Trask ที่แต่งเพลง เขียนบทละคร-หนัง และมาร่วมแสดงด้วย โดยการปรับบทจากละครเวทีมาเป็นหนังทำได้ดีมาก เพราะ John Cameron Mitchell ซึ่งเป็นผู้กำกับและนักแสดงละครเวอร์ชั่นออริจินัลได้มากุมบังเหียนเองและนำแสดงอีกด้วย เลยเชื่อมเรื่องราวได้โดยไม่เสียอรรถรสมิวสิคัลดัง และยังรู้จักใช้ศาสตร์ภาพยนตร์มาเพิ่มเสน่ห์การเล่าเรื่องให้น่าดึงดูดมากขึ้น จึงทำให้ “Hedwig and the Angry Inch” ขึ้นแท่นเป็นหนังที่เรารักลำดับต้นๆ ในชีวิต 🙂