Fundamental (2016)

Photo: www.facebook.com/Bfloor.theatre.group
Photo: www.facebook.com/Bfloor.theatre.group

 

Fundamental (2016)
กำกับโดย ธีระวัฒน์ มุลวิไล (คาเงะ)

 

ถ้าพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2516 คุณจะนึกถึงอะไร

 

แต่ละคนคงมีคำตอบที่แตกต่างกันตามความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ที่มีต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนั้นกลับดูลางเลือนเหลือเกินในวันนี้ ที่แม้แต่แบบเรียนยังไม่บรรยายรายละเอียดลงไปให้ชัดเจน หรืออาจเพราะเหตุการณ์นั้นเป็นพื้นที่มืดบอดที่ยังคงเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้

 

‘Fundamental’ เป็นหนึ่งในการแสดงที่คนละครตั้งใจสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยคาเงะ – ธีระวัฒน์ มุลวิไล แห่งคณะ B-Floor ได้ใช้ละครแนวฟิสิคัลเธียเตอร์ที่ถนัดมาสะท้อนและเชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 40 ปีก่อนกับโลกปัจจุบัน

 

เราอาจไม่ได้รู้ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ ลึก และไม่ได้เข้าใจหรือตีความการแสดงได้ทุกอิริยาบท แต่ก็เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสิ่ง บางเรื่องที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า สลับบทบาทกันไปมา รอเวลาที่สักวันจะถึงคราวเคราะห์ของแต่ละคน เสียงสำคัญที่ถูกกลบด้วยสัพเพเหระสารพันในชีวิตประจำวัน หรือเสียงหัวเราะที่เริ่มจากคนเพียงคนเดียว ค่อยๆ ขยายวงกว้าง เพิ่มความกังวานขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป จนรู้สึกสยองขึ้นมาเมื่อคนที่นั่งข้างๆ ก็หัวเราะไปตามตัวละครในเรื่อง ทั้งที่สิ่งที่เกิดขึ้นในฉากนั้นไม่มีอะไรน่าขำ และเสียงที่น่ากลัวที่สุดสำหรับเราคงหนีไม่พ้นเสียงไม้ถูพื้นและเครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติ ที่ทำให้สิ่งที่เห็นทั้งหมดหายวับราวกลับไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนั้น

 

หากใครเคยดูการแสดงเรื่องก่อนของคาเงะ น่าจะคุ้นเคยกับองค์ประกอบในเรื่องนี้หลายอย่างที่อาจพอเชื่อมโยงและช่วยให้เดาสิ่งที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การเลือกใช้เพลง(คลาสสิก ลูกเสือ ฯลฯ) ตัวละครเก็บกวาด ภาพและเสียงจากเหตุการณ์จริง รวมถึงถังน้ำมันสีแดง 15 ซึ่งเคยนำเสนอมาแล้วในไตรภาค ‘สถาปนา’ ทั้ง Chapter 1: ถังแดง Chapter 2: ภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg) และ Chapter 3: Iceberg, The Invisible

 

ในขณะที่ ‘ถังแดง’ เน้นสื่อสารความรู้สึกของผู้ถูกกระทำผ่านท่วงท่าที่หนักหน่วงและสวยงามของคาเงะ ‘Fundamental’ ใช้ประโยชน์จากความยืดหยุ่นของแบริเออร์พลาสติกสีส้ม 12 แท่นได้เป็นอย่างดี โดยนักแสดงจำนวนพอๆ แบริเออร์นอกจากต้องเคลื่อนไหวตัวเองเกือบตลอดเวลาแล้ว ยังต้องขนย้ายแท่นสีส้มนี้อยู่ตลอด เปลี่ยนตำแหน่ง เปลี่ยนมุม โยนไปกองรวมกัน เดินไปเหยียบ ตีลังกา จนผู้ชมอดคิดตามไปด้วยไม่ได้ว่าสุดท้ายแล้วแบริเออร์เหล่านี้หมายถึงอะไร

 

Photo: www.facebook.com/Bfloor.theatre.group
Photo: www.facebook.com/Bfloor.theatre.group

 

ถึงแม้ว่าการมีนักแสดงมากกว่า 10 คนบนพื้นที่การแสดงจะทำให้โฟกัสลำบากว่าควรจะดูใคร ในช่วงเวลาไหน แต่ทัพนักแสดงก็สื่อสารความเป็นมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ไม่แน่ใจว่าผู้กำกับตั้งใจหรือเปล่า แต่รู้สึกว่านักแสดงแต่ละคนตีความบทบาทตัวเองต่างกัน เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพื้นเพแต่ละคนเป็นยังไง ทำไมถึงตัดสินใจทำแบบนั้นในการแสดง และในความจริงแล้วบุคคลในหน้าประวัติศาสตร์นั้นคิดอะไรอยู่หรือไหลไปตามกระแสสังคม โดยไม่ได้ตรวจสอบความจริงที่เกิดขึ้น

 

ช่วงที่เราชอบคือตอนต้นเรื่องกับฉากสุดท้าย (อาจเป็นเพราะพอจะคิดตามทันว่าเรื่องกำลังพูดถึงอะไร แต่ตอนกลางเรื่องนั้นส่วนใหญ่จะงง) ซึ่งฉากที่หลายคนคุ้นตากันทำได้ดีมาก และมีหลายครั้งที่นักแสดงมาจ้องหน้าผู้ชมเหมือนจะพูดหรือถามอะไรบางอย่าง โดยมุมที่เรานั่งเห็นการแสดงของ ‘วสุ วรรลยางกูล’ ค่อนข้างชัด สายตาและท่าทางที่ดูเจ็บปวดทำให้รู้สึกเหมือนได้ยินเสียงเขาถามว่า วันนี้สังคมก้าวไปได้ไกลแค่ไหนแล้วหลังจากที่พวกเขาเสียสละไปในวันนั้น รากฐานของเราคืออะไร และคนยุคปัจจุบันพยายามแค่ไหนที่จะรักษาสิ่งนั้นไว้

 

นักแสดงทุกคนชุ่มเหงื่อ ดูเหนื่อยล้าหลังใช้ร่างกายอย่างหนักหน่วงตลอดหนึ่งชั่วโมงกว่า สลับบทบาทกันเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ชวนให้ฉุกคิดว่าคนที่พยายามต่อสู้เพื่อบางอย่างก็คงเหนื่อยไม่แพ้กัน และผู้ชมทำอะไรได้บ้างนอกจากปรบมือชื่นชมความทุ่มเทของพวกเขาในตอนจบ

 

นอกจากจะได้ประเด็นมากมายให้กลับไปคิดต่อแล้ว การดู ‘Fundamental’ รอบนี้ยังชวนตั้งคำถามถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ชมถามทีมงานหลังจบการแสดง ซึ่งส่วนใหญ่ทีมงานก็มักแจ้งผู้ชมก่อนแล้วว่าจะมีช่วง Q&A ดังนั้นถ้าใครต้องรีบกลับ หรือไม่สะดวกใจที่จะฟัง ก็ไม่มีใครบังคับให้อยู่ต่อได้ เพราะฉะนั้นเราเลยคิดว่าคนที่นั่งต่อหลังการแสดงจบก็คือ เขาต้องรู้และยอมรับอยู่แล้วไม่ใช่เหรอว่าจะได้ยินมุมมองของผู้สร้างผลงานนั้นๆ โดยส่วนตัวเราชอบช่วง Q&A มากเลยนะ เพราะทำให้เราได้เห็นมุมมองของทีมงานว่ามีกระบวนการคิดอย่างไร หรือต้องลำบากขนาดไหนกว่าจะผลิตผลงานแต่ละชิ้นออกมาได้ ซึ่งฟังแล้วก็เอามาคิดตามว่าสิ่งที่พูดมานั้นจริงรึเปล่า ผลงานนั้นสื่อสารได้ตามที่เขาต้องการรึเปล่า หรือเราดูแล้วตีความอีกอย่าง ก็สนุกดีและได้ความรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะผลงานที่เลือกนำเสนอประเด็นสังคมที่แทบไม่ถูกกล่าวถึง การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในพื้นที่เล็กๆ ผ่านแง่มุมศิลปะก็เป็นสิ่งดีที่จะช่วยผลักดันให้คนในสังคมกล้าพูดในสิ่งที่เราไม่สามารถพูดได้ในชีวิตประจำวัน

 

หรือแม้แต่พื้นที่ของศิลปะการแสดง ผู้ชมก็ไม่มีสิทธิส่งเสียง?

 

‘Fundamental’ เปิดแสดงจนถึง 2 ตุลาคมนี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจ B-Floor Theatre หรือหน้าอีเวนท์ 

 

แก้วตา
15.09.16

 

Photo: www.facebook.com/Bfloor.theatre.group
Photo: www.facebook.com/Bfloor.theatre.group