Death and the Maiden (2018)

 

Death and the Maiden
Produced by Peel the Limelight Studio

 

Death and the Maiden เป็นบทละครที่เขียนโดยนักเขียนชิลี Ariel Dorfman ในปี 1990 ที่ถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์และละครหลายครั้ง โดยล่าสุด ได้มีการนำบทมาสร้างสรรค์เป็นละครโดย Peel the Limelight Studio

 

การแสดงเล่าถึงคู่สามีภรรยา เจอราร์โด เอสโกบาร์ (แสดงโดย Jaime Zúñiga)  และเปาลินา ซาลาส (แสดงโดย Kelly B Jones) ที่มีแขกมาเยือนในยามดึกที่บ้านริมหาด ซึ่งเปาลินาคิดว่านายแพทย์โรแบร์โต มิรันดา (แสดงโดย James Laver) ที่เพิ่งช่วยสามีเธอจากเหตุรถเสีย เป็นคนเดียวกับคนที่เคยทรมานเธอในอดีต พร้อมเปิดเพลง ‘Death and the Maiden’ ของชูเบิร์ตคลอไปด้วย

 

แม้บทจะไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นที่ไหน แต่การแสดงนี้ตั้งใจให้เป็นชิลี ในช่วงที่เพิ่งเปลี่ยนผ่านจากยุคเผด็จการของปิโนเชต์ไปยังยุคประชาธิปไตย (ช่วงเวลาหลังจากเหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่อง ‘No’) ซึ่งคนที่พอทราบสิ่งที่เกิดขึ้นในชิลีก็จะช่วยให้เข้าใจบริบทยิ่งขึ้น แต่ถึงจะไม่รู้เรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ ผู้ชมก็สามารถเข้าใจเรื่องราวได้ไม่ยากจากการห้ำหั่นทางอารมณ์ของนักแสดงทั้งสาม รวมไปถึงการปะทะกันของความจริงและความเท็จตลอดทั้งเรื่อง

 

บทสนทนาและโมโนล็อกใน Death and the Maiden สะท้อนประเด็นที่น่าสนใจมากมาย ด้วยความที่ตัวละครต่างประสบเหตุมาคนละมุม จึงทำให้มีความคิดแตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละคนก็ถือเป็นตัวแทนของกลุ่มคนในสังคมจริงด้วย เช่น เปาลินา เป็นตัวแทนของคนที่ยึดติดกับอดีต ไม่สามารถอยู่กับปัจจุบันและไม่พร้อมจะก้าวไปในอนาคตได้ จนกว่าจะได้แก้แค้นหรือเอาคืนคนที่มาทำลายชีวิต ขณะที่เจอราร์โด ทนายผู้ได้รับเลือกให้ไปร่วมคณะกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในรัฐบาลก่อน ก็เป็นตัวแทนของความยุติธรรมตามกฎหมายที่หวังจะให้ทุกคนปรองดองแต่อาจจะไม่ตอบสนองความรู้สึกของทุกฝ่าย เน้นมองไปยังอนาคตมากกว่าอดีต สำหรับหมอโรแบร์โตนั้นมีความคลุมเครืออยู่ว่าตกลงแล้วเขาเคยเป็นหนึ่งในผู้ทรมานเปาลินารึเปล่า เขาจึงอาจเป็นทั้งตัวแทนของความโหดร้ายในอดีต รวมไปถึงการดิ้นรนเอาตัวรอดในปัจจุบันให้สำเร็จ หรือเขาเองอาจเป็นเพียงเหยื่ออารมณ์ของเปาลินาเท่านั้น

 

นอกจากนั้น การแสดงยังสะท้อนความไม่เท่าเทียมทางเพศในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากคำตัดพ้อหลายอย่างของเปาลินา เช่น “I’ll leave you men to fix the world.” ที่สะท้อนว่า ผู้หญิงดูจะไม่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาในสังคมนี้ได้เลย หรือคำพูดของโรแบร์โตที่บอกกับเจอราร์โดว่า “She isn’t the voice of civilization, you are.” ซึ่งก็ดูเหยียดเปาลินาอย่างชัดเจนว่าเธอไม่ใช่ผู้เจริญแล้ว ถึงได้จับเขามัดและตั้งศาลเตี้ยแบบนี้ จึงทำให้เกิดซีนที่น่าสนใจขึ้นมา คือการที่เปาลินาลุกขึ้นมาใส่เสื้อผ้าผู้ชายในช่วงหนึ่งของการแสดง คล้ายกับว่าเธอต้องปลดเปลื้อง ‘ความเป็นหญิง’ ออกก่อน ถึงจะมีพลังหรือความกล้าที่จะลุกขึ้นสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเองได้

 

Peter O’Neill กำกับเรื่องนี้ได้อย่างลงตัว อาจรู้สึกล้นบ้างที่มีการเพิ่มบทผู้หญิงร้องเพลงขึ้นมา รวมไปถึงคลิปปิดท้ายที่โจ่งแจ้งไปหน่อย แต่ก็ถือเป็นการปรับองก์สุดท้ายให้เข้ากับโปรดักชันได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งการเซ็ตฉากในเรื่องนี้ก็แปลกตาไปจากโปรดักชันก่อน ๆ ที่เคยได้ดูที่นี่ เลยทำให้เห็นว่าสเปซปรับเปลี่ยนได้เยอะเหมือนกัน แต่จุดด้อยของที่นี่คือเสียงรบกวนจากยิมข้าง ๆ ซึ่งบางครั้งมีเพลงขึ้นมาผิดจังหวะ และส่งผลกับอารมณ์คนดูทีเดียว อีกข้อที่ควรแก้ไขคือเซอร์ไตเติลที่บางจุดแปลยังไม่ค่อยไหลลื่น หรือบางจุดก็พิมพ์ผิดบ้างในรอบที่ไปดู ถ้าปรับแล้วน่าจะช่วยให้ผู้ชมชาวไทยสนุกกับการแสดงได้มากขึ้น

 

สำหรับการแสดง นักแสดงทั้งสามในเรื่องนี้ถือว่าทำได้ดีมาก โดยเฉพาะ Kelly B Jones ที่รับบทเปาลินาได้อย่างมีเสน่ห์ และแก้ไขสถานการณ์ได้ดี จึงทำให้ละครที่ต้องอาศัยบทและการแสดงเข้มข้นแบบนี้ตรึงคนดูได้ตลอด 90 นาทีของการแสดง และทำให้ต้องกลับไปอ่านบทละครต้นทาง เพื่อศึกษาการเขียนบทสนทนาให้เชือดเฉือนกันได้สนุกแบบนี้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องอาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในชิลี แต่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วโลกที่หวังจะให้ผู้คน ‘ปรองดอง’ กัน หลังเกิดการสลับขั้วอำนาจเกิดขึ้นในประเทศ

 

Death and the Maiden เป็นหนึ่งในการแสดงของเทศกาลละครกรุงเทพ จัดแสดงทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ จนถึงวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ที่ Peel the Limelight Studio ชั้น 2 อาคารจัสมิน ซิตี้ สุขุมวิท 23