Cyberpunk TH 2020
ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองในยุคปัจจุบันที่ยากจะคาดเดา คณะละคร Too Long Theatre ได้ลองตั้งคำถามขึ้นมาว่า ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคตอันไกลโพ้นเมื่อสังคมถูกครอบงำด้วยเทคโนโลยี การแสดง Cyberpunk TH 2020 จึงเกิดขึ้นเพื่อต่อยอดจินตนาการของ 4 ผู้กำกับรุ่นใหม่ผ่านละครสั้น 4 เรื่อง ที่ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์และสิ่งรอบตัว
When Charlie was There โดย รัฐกร พันธรักษ์
หลังจากผ่านทางเดินชมพูนีออน เราก็เข้ามาอยู่ในห้องขนาดกะทัดรัด ไฟนีออนสาดสีขาวให้ความรู้สึกเย็นชาท่ามกลางความมืด มีร่างในชุดสีดำกำลังนั่งนิ่งอยู่กลางห้อง หันหลังให้ผู้ชม มีสายระโยงระยางที่หลัง และมีชายในชุดเอี๊ยมกำลังนั่งง่วนทำงาน ขณะที่ชายหนุ่มในชุดเอี๊ยมอีกคนก็ออกมาเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องใต้ดินแห่งนั้นให้คนดูได้ฟัง ชายทั้งคู่ต่างไม่มีชื่อ มีเพียงตัวเลขเป็นโค้ดแทนตัว คนหนึ่งเป็นนักประดิษฐ์ชื่อดังที่พยายามสร้างมนุษย์จักรกล หรือ Human Machine ขึ้นมา ส่วนอีกคนก็เป็นผู้ช่วย
เรื่องเล่าและบทสนทนาในเรื่องต่างสอดแทรกไปด้วยประวัติศาสตร์จริง ประวัติศาสตร์สมมติ คำคมคนดัง ซึ่งรวมถึง ‘ชาร์ลี’ บุคคลสำคัญผู้มีอิทธิพลต่อทั้งคู่มาก แม้ว่าตัวเขาจะจากไปนานแล้ว แต่ชายนักประดิษฐ์ยังคงฝังใจและอยากนำช่วงเวลาในอดีตที่เขาคิดว่าสวยงามกลับคืนมา ซึ่งการที่เขามัวแต่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำให้เขามองข้ามคนใกล้ตัว และสภาพความเป็นจริงของโลกในยุคปัจจุบัน
การแสดงตั้งคำถามเชิงปรัชญาถึงความเป็น ‘มนุษย์’ ว่าแตกต่างจากหุ่นยนต์อย่างไร แต่ละฝ่ายมีบทบาท หน้าที่ คล้ายหรือต่างกันหรือไม่ รวมถึงผลของการไม่เปิดใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงหรือยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ประเด็นและสไตล์การนำเสนออาจไม่ได้แปลกใหม่จนยากจะคาดเดา แต่ตัวบทก็น่าสนใจเพราะเห็นได้ว่าต้องทำการบ้านมาเยอะเพื่อสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ถ้าขัดเกลาคำพูดให้คมขึ้นอีกนิด อธิบายเพิ่มเติมในบางจุดที่เข้าใจยาก ก็น่าจะช่วยให้เรื่องกลมกล่อมขึ้น
It’s a fxxking MATCH! โดย ธนวิชญ์ ทองพรหม
ไฟเปลี่ยนเป็นสีชมพูนีออนเมื่อเราเข้าสู่การแสดงเรื่องที่สองซึ่งจะพาผู้ชมไปสำรวจแง่มุมความรักบนแอปพลิเคชันหาคู่ ผ่านมุมมองของ ‘จอย’ สาวฮอตบนโลกออนไลน์ที่พร้อมจะส่งความสุขให้ทุกคน ซึ่งที่จริงแล้วเธอไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นหนึ่งในบอต A.I. ‘สาวในฝัน’ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดึงดูดลูกค้าให้มีเพื่อนคุยเท่านั้น
จอยเริ่มไม่จอยเมื่อวันหนึ่งระบบแมตช์เธอกับผู้หญิงปริศนาที่ดูจะชอบเธอมากเหลือเกิน ซึ่งทำให้เธอได้เปิดโลกใหม่ และทบทวนตัวเองมากขึ้นถึงความทรงจำ ความรู้สึก ความฝัน ความรัก เพศสภาพ เซ็กซ์ และความสุข หลังจากนั้นเธอก็ได้พบความจริงว่าโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้มีมนุษย์ใช้แอปฯ น้อยลง และถ้ายังเป็นแบบนี้ อาจมีสักวันที่ระบบจะต้องปิดตัวลง แล้วเธอก็คงจะต้องหายไปด้วย
การแสดงเล่าเรื่องได้อย่างน่าติดตาม ด้วยประเด็นที่เข้าถึงได้ไม่ยาก รวมถึงการแสดง องค์ประกอบศิลป์ ก็ช่วยซัพพอร์ตกันได้เป็นอย่างดี
แล้วฝันก็เป็นจริง อีก 5 วัน ผมจะได้ไป The Matrix.. โดย กิตตินันท์ ชาวปากน้ำ
ตอนนี้เล่าถึงแม่กับลูกชายที่มีความคิดขัดแย้งกัน โดยลูกต้องการจะไป The Matrix ด้วยการอัปโหลดข้อมูลจากสมองไปยังระบบกลางคล้าย Cloud ซึ่งจะทำให้เขามีชีวิตอยู่ได้เหนือกาลเวลาแม้ไม่มีร่างกาย ซึ่งแม่ก็คัดค้านความตั้งใจนี้ จนทั้งคู่ทะเลาะกันอย่างแรง แต่แล้วลูกชายก็โดนมิจฉาชีพมาทำร้ายถึงในบ้านจนสาหัส ซึ่งอาจทำให้เขาไม่สามารถเข้าไปยัง The Matrix ได้ตามที่ฝันไว้
ประเด็นที่พูดถึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวท่ามกลางอุดมการณ์ที่แตกต่างกันอาจไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่พอมาใส่ในบริบทไซไฟก็ทำให้ดูไม่เลี่ยนจนเกินไป ยิ่งมีฉากต่อสู้เหมือนหลุดออกมาจากในเกมก็ยิ่งเรียกเสียงเชียร์จากคนดูได้ไม่น้อย ก่อนจะจบลงแบบฟีลกู้ด แม่ลูกผูกพันธ์
อาตมาฝันถึงการปฏิวัติ โดย ปานมาศ ทองปาน
ปิดท้ายด้วยตอนที่นำเสนอประเด็นแปลกใหม่และน่าสนใจมากอย่างหลักคำสอนเรื่อง ‘อริยสัจ 4’ ในบริบทไซไฟ โดยเรื่องเล่าผ่าน ‘หลวงปู่’ พระสงฆ์รูปสุดท้ายในไทย ที่ป่วยหนักจนไม่รู้สึกตัว แต่ลูกศิษย์ยังไม่ยอมปล่อยให้ละสังขาร และได้ถวายอุปกรณ์สร้างโลกเสมือนให้หลวงปู่ได้ใช้ยามนิทรา
เมื่อจิตของหลวงปู่เข้าสู่โปรแกรมก็ได้พบกับบอตผู้ช่วยสาว ผู้พร้อมบันดาลทุกสิ่งที่หลวงปู่ต้องการให้ในพริบตา และเมื่อหลวงปู่บอกว่าสิ่งที่ต้องการก็คือ ‘นิพพาน’ เธอก็รีบไปค้นหาวิธีไปสู่เป้าหมายให้ทันที ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ทำให้ผู้ชมได้คิดทบทวนหลายประเด็น เช่น ความอยากคือต้นเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) หรือไม่ ความสุขคืออะไร การหลุดพ้นคืออะไร หุ่นยนต์สามารถนิพพานได้หรือไม่ ทำไมถึงเหลือพระสงฆ์รูปเดียวในไทย ลูกศิษย์ที่ถวายของให้พระต้องการช่วยเหลือพระจริงๆ หรือทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว (ได้บุญ, ถูกหวย) และถ้าหากสามารถใช้ ‘ชีวิตที่สอง’ ได้ เราจะเลือกทำอะไร
นักแสดงในตอนนี้ทำได้ดีมากทุกคน บทลงตัวโดยมีทั้งความฉลาดและอารมณ์ขันอย่างเต็มเปี่ยม การคิดซีนและองค์ประกอบศิลป์ทำได้ดี แค่ฉากเปิดตัวก็น่าติดตามแล้ว
Cyberpunk TH 2020 ถือเป็นการแสดงกลุ่มเรื่องแรกที่ได้ดูหลังคลายล็อกดาวน์ ซึ่งรู้สึกดีใจที่คณะทำเรื่องนี้ขึ้นมาในช่วงเวลานี้ เพราะเป็นการตั้งข้อสังเกตที่มีต่อสังคมได้อย่างน่าสนใจ และสะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจต่ออนาคตของประเทศนี้ นอกจากนั้น ทีมงานยังจัดการพื้นที่การแสดงได้เป็นอย่างดี ใช้วิดีโอ ซาวน์ ได้ลงตัว ที่น่าชื่นชมมากคือ 4 นักแสดง สายฟ้า ตันธนา, เบญจ์ บุษราคัมวงศ์, กมลสรวง อักษรานุเคราะห์ และณัฐชญา สืบแย้ม ซึ่งเคมีดีมากเวลาอยู่ด้วยกัน แถมยังแรงดี ไม่มีตก ตลอดการแสดงที่ต้องผลัดเปลี่ยนกันเล่นเกือบ 2 ชั่วโมง
Cyberpunk TH 2020 เหลือการแสดงอีกเพียง 2 รอบในวันที่ 30 – 31 ตุลาคมนี้ เวลา 19.30 น. ที่ Spark Drama Studio อโศก