All Things Must Pass: The Rise and Fall of Tower Records (2015)

 

All Things Must Pass: The Rise and Fall of Tower Records
(Colin Hanks, 2015)
★★★☆☆

 

ชั้นวางซีดีที่รวบรวมเพลงหลากหลายแนวยังคงเรียงรายไปทั่วร้านที่มีเอกลักษณ์อยู่ที่ป้ายสีเหลืองและตัวอักษรภาษาอังกฤษพิมพ์ใหญ่สีแดงคล้ายในอดีต ต่างกันแค่เพียงวันนี้ชั้นวางเหล่านั้นกลับว่างเปล่า มีเพียงฝุ่นและความเงียบเกาะกิน รวมถึงป้ายร้านที่คอยย้ำเตือนถึงเธอ … Tower Records

 

‘All Things Must Pass: The Rise and Fall of Tower Records’ หรือ ‘ทาวเวอร์เรคคอร์ดส ร้านเดิม…เพิ่มเติมคือคิดถึง’ เป็นภาพยนตร์สารคดีปี 2015 ที่นำเสนอความเป็นมาและเป็นไปของร้านเพลงระดับตำนาน ‘ทาวเวอร์ เรคคอร์ดส’ ซึ่งถือกำเนิดมาจากความคิดห่ามๆ ของหนุ่ม ‘รัสเซล โซโลมอน’ ที่อยากเปลี่ยนร้านขายยา ‘ทาวเวอร์ ดรัคส์’ ของพ่อซึ่งตั้งอยู่ที่โรงละครทาวเวอร์ให้เป็นร้านขายแผ่นเสียง และคนที่ห่ามกว่าคงหนีไม่พ้นคุณพ่อเภสัชกรที่ยอมให้ลูกชายผู้เรียนไม่จบ ม.ปลาย ทำตามใจตัวเอง แต่ก็แอบสอนบทเรียนเกี่ยวกับโลกธุรกิจไปด้วย และนี่คือจุดกำเนิดของร้าน ‘ทาวเวอร์ เรคคอร์ดส’ แห่งแรกที่ซาคราเมนโต เมืองหลวงของรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 1960 (พ.ศ. 2503)

 

การก่อตั้งธุรกิจใหม่คงไม่ยากเท่ากับการรักษาธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ ซึ่ง ‘รัสส์’ เองก็อาศัยลูกบ้าของตัวเองที่ไม่เกรงกลัวอะไร มาผสมกับลูกบ้าของคนอื่น (บ้างาน บ้าดนตรี บ้าระห่ำ บ้าบิ่น บ้าบอ ฯลฯ) จนทำให้ทาวเวอร์เรคคอร์ดสขยายสาขาไปทั่วอเมริกา และยังมีสาขาในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

 

ทาวเวอร์ เรคคอร์ดส กลายเป็นสวรรค์ของคนรักเสียงเพลง โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนพร้อมเปิดใจรับฟังสิ่งใหม่ๆ เสียงใหม่ๆ ที่โสตประสาทไม่เคยสัมผัสมาก่อน จึงไม่แปลกที่ที่นี่ดึงดูดศิลปิน นักร้อง และนักแต่งเพลง ให้มารวมตัวกันโดยไม่ได้นัดหมาย รวมถึง ‘เอลตัน จอห์น’ ที่รักร้านนี้มากจนถึงกับบอกว่าตัวเองเสียเงินให้กับร้านนี้มากกว่าคนอื่นในโลก!

 

หนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จที่ช่วยให้ทาวเวอร์เรคคอร์ดสดึงดูดคนรักเสียงเพลงได้ก็มาจากการจ้างคนบ้าเสียงเพลงมาทำงานนั่นแหละ คนหนุ่มสาวที่มีไฟในการใช้ชีวิตเต็มเปี่ยม ไม่ต้องการให้กรอบอันไร้สาระในโลกการทำงานมากักขัง และพร้อมจะเป็นเพื่อนกับผู้ที่เดินเข้ามาในร้าน เพราะทุกคนคือคอเดียวกัน พูดจาภาษาเดียวกัน เข้าใจในความต้องการของกันและกัน แต่นอกจากความบ้าแล้วก็ต้องมีฝ่ายเหตุผลมาช่วยถ่วงสมดุลย์หยินหยาง ซึ่งผู้รับหน้าที่นี้ก็คือ ‘บัด มาร์ติน’ มือขวาของ ‘รัสส์’ ที่ช่วยควบคุมเรื่องการเงิน

 

ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ ที่มีขาขึ้นและขาลง ทาวเวอร์เรคคอร์ดสเผชิญปัญหาหนักในปี 2004 จากการที่หลายบริษัทต้องการส่วนแบ่งในธุรกิจดนตรี รวมถึงอินเทอร์เน็ตที่ทำให้การฟังเพลงสะดวกขึ้นมาก เหตุผลต่างๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทาวเวอร์ เรคคอร์ดส ขาดทุนอย่างหนักจนต้องยื่นล้มละลาย ภาระหนักอึ้งตกอยู่ที่ ‘ไมเคิล’ ลูกชายคนโตของ ‘รัสส์’ ซึ่งเรียนจบด้านกฎหมาย ที่นอกจากต้องแก้ปัญหาเรื่องธุรกิจแล้ว ยังต้องแบกรับความกดดันจากการที่เพื่อนร่วมงานมองว่าเขาไม่เก่งเท่าพ่อ

 

สุดท้ายทาวเวอร์เรคคอร์ดสจำต้องทยอยปิดตัวลงในปี 2006 ท่ามกลางหัวใจที่แตกสลายของ ‘รัสส์’ พนักงานในร้าน และคนรักเสียงเพลงจำนวนไม่น้อย

 

‘No Music, No Life’ คือสโลแกนของทาวเวอร์เรคคอร์ดสที่ญี่ปุ่น ซึ่งยังคงเปิดให้บริการอยู่จนถึงปัจจุบัน เหมือนจะประกาศให้โลกรู้ว่า ธุรกิจแผ่นเสียง-ซีดีเพลงยังไม่ตายและจะอยู่รอดได้ หากวัฒนธรรมการซื้อของถูกลิขสิทธิ์ยังคงอยู่ นอกจากนั้นทาวเวอร์เรคคอร์ดสยังคงหายใจอยู่ ณ เมืองดับลิน ไอร์แลนด์ ซึ่งเข้าใจตลาดว่าผู้ซื้อต้องการแผ่นเสียงและซีดีไปสะสม

 

ความเป็นมาและเป็นไปของทาวเวอร์เรคอร์ดส นอกจากจะทำให้เห็นเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ดนตรี ยังสะท้อนหลายแง่มุมในการทำธุรกิจที่บางครั้งก็ต้องอาศัยมากกว่า ‘โชค’ ซึ่งแน่นอนว่าร้านขายเพลงขนาดใหญ่นี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้หลายคน รวมถึงผู้กำกับ ‘โคลิน แฮงค์ส’ เอง ที่ตั้งใจเปิดระดมทุนทำสารคดีเรื่องนี้ผ่าน Kickstarter โดยถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้น่าติดตามผ่านการเล่าประสบการณ์สนุกๆ ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ถึงแม้ว่าช่วงต้นและกลางเรื่องจะเรื่อยๆ ไปหน่อย แต่ช่วงท้ายของเรื่องมีพลังมาก จนไม่แปลกที่เห็นหลายคนน้ำตารื้นออกมาจากโรง

 

ติดตามรอบฉายและเกร็ดเกี่ยวกับหนังสารคดี All Things Must Pass: The Rise and Fall of Tower Records ได้ที่ www.facebook.com/DocumentaryClubTH

 

 

แก้วตา
17.04.16