30th : If I Can’t Sing, I Don’t Want To Be Part Of Your Revolution.

ไม่ว่าแต่ละคนจะรู้จัก หรือไม่รู้จัก หรือมีภาพจำเกี่ยวกับปฏิพล อัศวมหาพงษ์ หรือ “มิสโอ๊ต” แบบไหน แต่เมื่อก้าวเข้าไปในห้องที่ประดับพร็อพม่านฟอยล์สีหวานและจอคาราโอเกะแล้ว เราทุกคนต่างเป็นแขกที่มาร่วมงานปาร์ตี้ฉลองวันเกิดเริ่มต้นวัยเลขสามของมิส พร้อมย้อนเวลากลับไปทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบสามทศวรรษว่าส่งผลอย่างไรบ้างกับมิส กับตัวเราเอง กับประเทศ และกับโลกใบนี้ ผ่านการแสดง “30th : If I Can’t Sing, I Don’t Want To Be Part Of Your Revolution.’”

แม้จะออกตัวว่าเป็นการแสดงเดี่ยวแบบ “Durational Performance” ที่มีความยาวถึงห้าชั่วโมง แต่ผู้ชมก็มีอิสระที่จะเดินเข้า-เดินออกจากห้อง และเลือกได้ว่าจะอยู่ในนั้นจนจบหรือจะติดตามผ่านจอ ตามสภาพร่างกายและเวลาจะอำนวย นอกจากนั้นมิสโอ๊ตก็ไม่ได้ฉายเดี่ยวพูดหรือร้องเพลงอยู่คนเดียวตลอดทั้งเรื่อง เพราะผู้ชมทุกคนต่างมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์เรื่องราวและความทรงจำในช่วงเวลานั้นไปด้วยกัน ถ้าใครอยากร้องเพลงอะไรก็รีเควสต์ได้ หรือถ้าอยากมาฟังเพลง สังเกตการณ์เฉยๆ ก็ได้เช่นกัน ใครอยากนั่งบนพื้น บนเก้าอี้ บนบีนแบ็ก จะนอน จะยืนก็ทำได้ อยากชวนมิสคุยหรือเม้าท์กับคนอื่นก็ได้ หรือบางทีมิสก็มาชวนเราคุยเช่นกัน

นอกจากจอทีวีที่เล่นเพลงคาราโอเกะแล้ว ยังมีจอผ้าขนาดใหญ่บนผนังที่ฉายภาพเรื่องราวมากมาย เริ่มจากการตั้งคำถามว่า “ปฏิพล (มิสโอ๊ต)” คือใคร ก่อนจะมีคลิปอธิบายที่มาของมิสทั้งการทำงานและครอบครัว หลังจากนั้นภาพบนจอจะไล่เรียงวันที่ตั้งแต่มิสโอ๊ตเกิดจนถึงปัจจุบันว่ามีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบนโลกใบนี้บ้างอย่างต่อเนื่อง และเมื่อถึงช่วงที่เป็นหมุดหมายสำคัญ การร้องคาราโอเกะก็จะหยุดลงชั่วคราวเพื่อฉายคลิปวิดีโอที่แทรกขึ้นมา โดยมีทั้งเหตุการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติ ซึ่งในบางครั้งมิสก็จะเล่าถึงเหตุการณ์นั้นๆ ว่าส่งผลต่อความคิดและชีวิตเธออย่างไรบ้าง แต่ภาพบางเหตุการณ์ก็น่าหดหู่จนไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบายใดเพิ่มเติม

ด้วยรูปแบบการแสดงที่เปิดให้ผู้ชมได้ร่วมส่งเสียง(ร้อง) และเลือกได้ว่าจะอยู่ด้วยกันไปจนจบหรือไม่ ส่งผลให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปตามปัจจัยที่เลือกและไม่ได้เลือก สำหรับเราที่อยู่ตั้งแต่(เกือบ)ต้นจนจบ ก็รู้สึกว่านั่งได้เพลินๆ เพราะได้ดูไทม์ไลน์บนจอทบทวนว่าช่วงไหนเกิดอะไรบ้าง เฝ้ารออ่านสิ่งที่เกิดขึ้นในวันเกิดเราในแต่ละปี นึกย้อนไปว่าช่วงเวลานั้นเราทำอะไรอยู่ สงสัยว่าลิสต์นี้น่าเชื่อถือแค่ไหน วันนึงจะมีชื่อเราหรือคนรู้จักในนั้นบ้างไหมนะ และก็หันไปดูมิสและสังเกตคนอื่นไปเรื่อยๆ ไปพร้อมกับการฟัง 54 บทเพลงที่ถูกเลือกมาร้องในค่ำคืนนั้น ซึ่งแต่ละคนก็อาจเลือกเพลงที่อยากร้อง อยากผ่อนคลาย อยากระลึกความหลัง อยากโชว์พลังเสียง อยากให้คนอื่นสนุก หรืออยากระบายความอัดอั้น เสียดสี จิกกัดสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว เราเลยได้เพลย์ลิสต์ที่หลากแนวหลายภาษา ได้ยินเพลงที่ไม่เคยฟัง ได้ร่วมร้องเพลงที่ไม่คิดว่าจะได้ร้องกับใคร และฟังเพลงที่คงจะเบ้ปากแรงใส่คนร้องถ้าอยู่นอกห้องนั้น ซึ่งรอบที่เราไปนั้นมีคนรู้จักค่อนข้างเยอะ ถึงบางคนจะไม่รู้จักหรือสนิทกัน แต่เราก็รู้สึกสบายใจที่ได้อยู่ในพื้นที่นั้น ได้แชร์ช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน

สิ่งที่ประทับใจที่สุดในการแสดงก็คือมิสโอ๊ต ที่สตรองมากๆ ในการเอาเรื่องส่วนตัวและจุดเปราะบางในชีวิตมาเล่าอย่างจริงใจ พร้อมเชื่อมโยงกับปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้และส่งผลกระทบต่อตัวตนของเรา โดยเฉพาะการร้อยเรียงประเด็น “ชีวิต” และ “ความตาย” ที่กินใจมากๆ และเมื่อถึงช่วงเวลาที่ sensitive เราก็ได้เห็นว่าทุกคนทั้งคนดูและทีมงานพร้อมซัพพอร์ตมิสเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการปลอบสัมผัส ช่วยร้องเพลง และส่งสายตาอ่อนโยนไปให้ ทำให้รู้สึกว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปห้าชั่วโมงหรือ 30 ปีที่ดูยาวนาน มีเหตุการณ์และเรื่องราวที่สั่นคลอนเราเพียงไหน หากในชีวิตเรามีผู้คนเหล่านี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยไว้พักใจก็จะช่วยให้เราฮึบสู้ได้อีกครั้ง การแสดง “30th” จึงถือเป็นการส่งมอบบันทึกความทรงจำในอดีตของมิสโอ๊ตแด่ทุกคน เพื่อขอบคุณคนที่อยู่เคียงข้างกันมา และขอบคุณตัวเองที่ยืนหยัดมีชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้ 

ร่วมร้องเพลงและเป็นสักขีพยานให้กับการมีชีวิตอยู่ของมิสโอ๊ตใน “30th : If I Can’t Sing, I Don’t Want To Be Part Of Your Revolution.’” เปิดแสดงในเวลา 19.00 – 00.00 น. ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม จนถึง 13 สิงหาคม 2566 ที่ Solid @ Soulsmith ซอยเจริญนคร 5/1 (ใกล้ไอคอนสยาม) ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและจองบัตรได้ที่ https://www.facebook.com/MissTheatre และ https://www.ticketmelon.com/misstheatre/30th