24 มิถุนายน 2559

ที่มาภาพ: หมุดที่ระลึกแห่งการปฏิวัติ/การเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ณ ลานพระราชวังดุสิต บริเวณด้านข้างพระบรมรูปทรงม้า หน้าสนามเสือป่า https://th.wikipedia.org/wiki/ไฟล์:Memorial_peg_of_Siamese_Revolution_of_1932.jpg

 

 

24 มิถุนายน 2559

 

วันนี้เป็นอีกวันที่มีความคิดและคำถามมากมายในหัว เพราะมีประเด็นใหญ่มากมายเกิดขึ้นทั้งเรื่อง Brexit, อองซานซูจี เจอนายกฯ ไทย แต่เรื่องที่เราสนใจที่สุดคงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 84 ปีก่อน

 

ไม่รู้เหมือนกันว่าความทรงจำเกี่ยวกับหมุดคณะราษฎรหายไปตอนไหนหรือไม่เคยมีอยู่แต่แรก แต่การได้มาทำความรู้จักกัน(อีกครั้ง)ก็ทำให้คิดอะไรมากขึ้น พยายามมองไปรอบตัวให้กว้างกว่าเดิม จนทำให้เราอยากเจาะลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นจากมุมมองใหม่ๆ และอยากบอกต่อให้คนอื่นได้รับรู้ในแบบของเรา

 

การได้พูดคุยกับคนเยอะๆ ก็ทำให้ได้คิดตามไปด้วยว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีการนำเรื่องราวคราวนั้นกลับมาอ้างถึงมากขึ้น ไม่ว่าจะเพื่อสนับสนุนความคิดของตัวเองหรือโจมตีอีกฝ่าย โดยการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยหลังจากอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเกือบ 700 ปีนี้ นอกจากจะทำให้คนทั่วไปตระหนักถึงพลังในตัวเองแล้ว ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่มีการนำหลักการที่ว่าทุกคนเท่าเทียมกันมาใช้ในการร่างกฎหมายปกครองประเทศ ซึ่งจุดเปลี่ยนนี้ก็ทำให้ผู้คนมีความคิดแตกออกไป สะท้อนให้เห็นได้ชัดจากคำที่ใช้เรียกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น “วันอภิวัฒน์สยาม” “วันปฏิวัติสยาม” หรือแม้กระทั่ง “วันขยะแผ่นดิน”

 

ไม่ว่าใครจะมีความคิดเห็นแตกต่างอย่างไร แต่เราก็เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน มีสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและความคิด ซึ่งก็คงดีถ้าที่ๆ เราอยู่จะเอื้อให้เราได้ใช้ชีวิตแบบนั้น ปฏิบัติกับเราไม่ต่างจากคนอื่น และแน่นอนว่าเราก็ต้องเคารพในความคิดของผู้อื่น รวมถึงข้อตกลงทางสังคมที่มีร่วมกันด้วยเช่นกัน

 

หันกลับมาดูสิ่งที่เกิดวันนี้แล้วรู้สึกว่ายิ่งห่างไกลจากสิ่งที่เราเชื่อ การจะพูดหรือแสดงออกถึงสิ่งที่คิดเป็นไปได้ยาก แม้จะมั่นใจว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นไม่ผิดกติกา เพราะตอนนี้ดูจะไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะรับประกันได้ 100% ว่าสิ่งไหนถูกหรือผิด ทั้งที่ทำอะไรเหมือนกัน แต่คนที่มีความเห็นแตกต่างกลับได้รับการปฏิบัติต่างกันราวฟ้ากับเหว ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าพวกเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

 

มีคนบอกเราว่าประวัติศาสตร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมและไม่ชอบธรรมได้แล้วแต่การให้ความหมายของแต่ละคน ซึ่งตอนนี้วันที่ 24 มิถุนายน ก็ดูจะเลือนลางและไร้ความสำคัญสำหรับคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะแทบไม่มีการพูดถึงในวงกว้าง ไร้การเฉลิมฉลองหรือรำลึกใดๆ อย่างเป็นทางการ แม้แต่สื่อบันเทิงเองก็แทบไม่หยิบเรื่องราวนี้มาสะท้อนให้เห็น ทั้งที่มีประเด็นน่าสนใจ น่าตีความมากมาย หรือบางครั้งก็มีการพูดถึง แต่ก็เป็นไปในแนวทางที่คิดว่าสังคมส่วนใหญ่ยอมรับได้เท่านั้น

 

คงจะดีถ้าประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นไม่ได้จบแค่ในอดีต แต่มีการพูดถึงและวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้คนในสังคมได้เรียนรู้จากบาดแผลเหล่านั้น และไม่ก้าวพลาดซ้ำเหมือนครั้งก่อน

 

แก้วตา
24.06.16