โนราห์ (2018)

โนราห์ (2018)
กำกับโดย เอกชัย ศรีวิชัย

 

แม้ว่าภาพยนตร์หลายเรื่องต้องการจะสะท้อน ‘ความเป็นไทย’ มากเท่าไร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความพยายามหลายครั้งอาจทำให้ภาพยนตร์กลายเป็นเพียงสื่อโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น หากขาดวรรณศิลป์ในการสื่อสารประเด็นนี้ผ่านโลกภาพยนตร์ และ ‘โนราห์’ ก็เป็นหนึ่งในนั้น


โครงเรื่องของ ‘โนราห์’ ดูน่าสนใจทีเดียว เพราะเลือกที่จะนำเสนอตำนานของการรำมโนราห์ผ่านการย้อนเวลาไปในอดีตของ ‘นอร์ร่า’ สาวลูกครึ่งที่เดินทางมาพัทลุง เพราะครอบครัวจะซื้อที่ดินมาทำรีสอร์ต จนได้พบกับ ‘สิงหร’ หนุ่มชาวเกาะในยุคโบราณที่อุทิศตนให้กับนาฏศิลป์ ซึ่งการที่ทั้งคู่ได้พบกันสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันได้


อ่านเรื่องย่อแล้วอาจเดาตอนจบได้ไม่ยาก และยิ่งรู้จักชื่อจริงของนักแสดงที่มาเล่นเป็นสิงหร (ไพศาล ขุนหนู) ด้วยแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตอนท้ายเรื่องก็ไม่ใช่ความลับอีกต่อไป ซึ่งนี่เป็นจุดอ่อนสำคัญของบทและตัวเรื่องของ ‘โนราห์’ ที่ดูจะยึดตัวนักแสดงเป็นแกนหลักและเขียนบทเพื่อรองรับ แทนที่จะเปิดโอกาสให้นักแสดงได้แสดงความสามารถเพื่อให้เข้าถึงบทบาทนั้น ๆ อย่างเต็มที่ ผู้ชมจึงได้เห็นฉากที่ดูจงใจโชว์นักแสดง เช่น ฉากที่นอร์ร่าขี่ม้ากลางตลาด (เจด – แองเจลินา โฟรม็องโต้ เป็นนักกีฬาขี่ม้า) การคัดเลือกนักแสดงเด็กที่มีลักษณ์เด่นบนใบหน้าแต่ลักษณะดังกล่าวกลับไม่มีอยู่ในตัวละครตอนโต หรือแม้แต่การนำนักแสดงที่ใบหน้ามีลักษณะพิเศษมาใส่ไว้เพื่อเล่นมุกล้อเลียนเท่านั้น


นอกจากนั้น การสร้างตัวละครยังแบนราบ จนทำให้คนดูเห็นด้านเดียวของตัวละครที่แสนดี ไม่ก็เลวร้ายไปเลย ด้วยความที่บทของเรื่องยังไม่หลุดพ้นขนบเดิม ๆ ที่มอง ‘ความเป็นไทย’ อยู่เหนือทุกสิ่ง และ ‘ความต่างชาติ’ เป็นผู้ร้ายที่จ้องจะมาย่ำยี จึงได้เห็นการสร้างบทให้พ่อนอร์ร่าตั้งใจจะทำลายบ้านเก่าแก่ของครูมโนราห์ อำมาตย์หน้าฝรั่งที่หวังทำลายนาฏศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ รวมถึงระบำแขกที่คอยมายั่วยวนจิตใจ ซึ่งตัวบทก็ไม่ได้สนใจที่จะให้เวลาในการอธิบายเหตุผลรองรับ นอกจากจะบอกว่าเราเป็นคนไทยก็ต้องรักษาสมบัติชาติสิ หรือแม้แต่ปมปัญหาของตัวละครที่ควรจะแข็งแรงกว่านี้ เพราะจะช่วยทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในช่วงไคลแมกซ์ แต่บทกลับร่ายยาวนอกประเด็นที่ควรเจาะลึก จนทำให้ปมปัญหาของเรื่องเบาโหวง ซึ่งทำให้คนดูไม่ได้อยากร่วมลุ้นไปกับหนังเลย (ส่วนหนึ่งคือเดาตอนจบได้อยู่แล้ว)

 

‘โนราห์’ เป็นภาพยนตร์ที่เปี่ยมไปด้วยความตั้งใจที่จะให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมชาติ ซึ่งช่วยให้ผู้ชมได้รับรู้ตำนานที่มาของการรำมโนราห์ รวมถึงพิธีการไหว้ครู ‘โนราห์โรงครู’ ตลอด 3 วันที่วัดท่าแค พัทลุง และยังมีแนวคิดตั้งต้นที่น่าสนใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงเส้นเรื่องด้วยการย้อนเวลา รวมถึงการออกแบบท่ารำดั้งเดิมให้กลายเป็นท่าต่อสู้ในคิวบู๊ สำหรับด้านโปรดักชันก็น่าชื่นชม เพราะถ่ายภาพธรรมชาติออกมาได้อย่างสวยงามหลายฉาก แต่น่าเสียดายที่หนังไม่ค่อยใช้ประโยชน์ในการสื่อสารผ่านงานภาพมากนัก และยังมีการตัดต่อสะดุดในรอบที่ไปดู นอกจากนั้น ทิศทางการกำกับยังไม่ค่อยลงตัว และทำให้หนังยาวถึง 1 ชั่วโมง 40 นาที ทั้งที่สามารถขมวดจบได้เร็วกว่านั้นเยอะ แต่สิ่งที่ทำร้ายหนังมากที่สุดก็คือบท โดยเฉพาะวิธีคิดที่ยังไม่สามารถก้าวข้ามผ่าน ‘ทัศนอคติ’ บางอย่างของคนทำไปได้ ซึ่งสวนทางกับโลกแห่งความเป็นจริงอย่างเห็นได้ชัด และยิ่งมาเจอฉากปิดท้ายขายของอีก ก็ชวนให้ตั้งคำถามยิ่งขึ้นว่าที่ดูมาทั้งหมดนั้น ผู้สร้างต้องการใช้ประโยชน์อะไรจากสื่อภาพยนตร์กันแน่