ยานบังคับการอพอลโล่ 11 เตรียมเดินสายโชว์ใน 4 รัฐ
ในขณะที่หลายคนทั่วโลกกำลังตื่นเต้นกับข่าวการค้นพบ 7 ดาวเคราะห์ในระบบ ‘TRAPPIST-1’ ก็มีอีกข่าวดีในแวดวงดาราศาสตร์ เมื่อยานบังคับการของอพอลโล่ 11 ที่ส่งนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จ เตรียมออกเดินสายไปยังรัฐต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี
หลังเสร็จสิ้นภารกิจพา ‘นีล อาร์มสตรอง’ ไปประทับรอยเท้าบนดวงจันทร์ได้สำเร็จในปี 1969 ยานบังคับการโคลัมเบียก็เตรียมออกเดินทางอีกครั้ง โดยคราวนี้ไม่ต้องออกไปยังอวกาศ แต่จะเดินสายโชว์ตัวใน 4 รัฐ ในช่วงเดือนตุลาคมปีนี้ จนถึงเดือนกันยายนปี 2019 เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีของความสำเร็จของมวลมนุษยชาติในครั้งนั้น
สำหรับยานบังคับการโคลัมเบียนั้นเป็นส่วนที่นักบินอวกาศทั้ง 3 คนอาศัยอยู่ระหว่างการเดินทางไปดวงจันทร์ ซึ่งควบคุมโดย ‘ไมเคิล คอลลินส์’ เป็นคนละส่วนกับยานอีเกิ้ลที่ไปลงจอดบนดวงจันทร์ในภายหลัง ซึ่งดูแลโดย ‘เอ็ดวิน “บัซ” อัลดริน จูเนียร์’ และ ‘อาร์มสตรอง’
ก่อนหน้านี้ยานบังคับการโคลัมเบียเคยเดินสายไปทั่ว 50 รัฐของอเมริกาแล้วในปี 1970 และ 1971 หลังจากนั้นได้มาอยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันสมิธโซเนียน ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมตั้งแต่ปี 1976
โดยการเดินสายอีกครั้งในรอบกว่า 40 ปีนี้จะไปจัดแสดงที่ Space Center Houston รัฐเท็กซัส ระหว่างวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ถึง 18 มีนาคมปีหน้า ก่อนจะไปยัง St. Louis Science Center รัฐมิสซูรี ระหว่างวันที่ 14 เมษายนถึง 3 กันยายน 2018 สำหรับคนที่อยู่รัฐเพนซิลเวเนีย สามารถไปชมยานนี้ได้ที่ Senator John Heinz History Center, Pittsburgh ระหว่างวันที่ 29 กันยายน 2018 ถึง 18 กุมภาพันธ์ 2019 และปิดท้ายที่ The Museum of Flight, Seattle รัฐวอชิงตัน ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคมถึง 2 กันยายน 2019
หลังจากเดินสายแล้วยานบังคับการโคลัมเบียก็จะกลับมาที่สมิธโซเนียน และขึ้นแท่นเป็นผลงานเด่นในนิทรรศการ “Destination Moon” ซึ่งจะจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการสำรวจดวงจันทร์ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน โดยจะเริ่มเปิดให้เข้าชมในปี 2021
ถ้าใครอยู่แถวนั้นพอดี หรือวางแผนจะไปอเมริกาในช่วงนั้น ก็อย่าลืมแวะไปชมและส่งข่าวบอกเล่ากันมาได้นะคะ 🙂
อีกเรื่องที่น่าสนใจในวาระครบรอบ 50 ปีของภารกิจอพอลโล 11 นี้ก็คือ จะครบกำหนดเวลาที่ประชาชนมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลลับที่ภาครัฐเก็บไว้เกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์นี้ ตามเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสารที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งก็น่าจะช่วยคลี่คลายข้อสงสัยที่ว่า “ก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ” นั้นเป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิด เพื่อให้อเมริกาช่วงชิงความเป็นหนึ่งเหนือรัสเซียในยุคสงครามเย็นเท่านั้นหรือไม่
โดยประเด็นนี้ถูกตั้งคำถามมาเป็นเวลานาน และแม้องค์การนาซ่าจะออกมาอธิบายให้ความกระจ่างแล้วหลายครั้ง แต่ฝ่ายที่ไม่เชื่อก็ดูเหมือนจะยังไม่เชื่อคำตอบนั้น 100% ซึ่งพอได้ลองติดตามอ่านสมมติฐานเหล่านั้นและคำอธิบายจากทางการแล้ว ก็รู้สึกว่าได้ความรู้และสนุกกับการที่เห็นผู้คนรู้จักตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น และพยายามสรรหาเหตุผลมาแย้งกัน นอกจากนั้นยังรู้สึกดีที่ชาวอเมริกันมีสิทธิ์รับรู้ความจริงที่เกิดขึ้นในอดีต เพราะจะทำให้คนในประเทศมีชุดข้อมูลที่ตรงกันในการเดินหน้าต่อไป ไม่ผิดพลาดซ้ำสอง ในทางตรงกันข้ามหากประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศกลายเป็นเพียงหลุมดำที่ไม่มีผู้ใดได้รับรู้ความจริง ก็อาจทำให้เกิดบาดแผลที่ลุกลามมายังปัจจุบัน ซึ่งยากที่จะแก้ไข ยากที่จะเยียวยา และไม่มีวันที่จะเลือนหายไปตามกาลเวลา
แปลและเรียบเรียงจาก: