เพลิงอารยะ (Civilization Fire)

เพลิงอารยะ (Civilization Fire) จากเพจ Mayarith Theatre

เพลิงอารยะ (Civilization Fire) เป็นละครเวทีลำดับที่ 8 ที่สร้างสรรค์โดยโรงละครมายาฤทธิ์ และสถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา (มายา) ซึ่งเล่าถึงกำเนิดของไฟที่เชื่อมโยงกับมนุษย์ โดยเริ่มตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์เพราะอุกกาบาต มาถึงยุคมนุษย์ถ้ำที่คิดค้นวิธีจุดไฟได้เป็นครั้งแรก และเป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรมบนโลกนี้

หลังจากนั้นก็มีการแบ่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับไฟเป็น 4 ตอนย่อย เริ่มจากความเชื่อของชนชาติไตที่ใช้ให้ตัวเหลือบไปขอไฟมาจากผีฟ้า นิทานของจีนที่เล่าถึงชายหนุ่มผู้ยากไร้ที่ต้องอาศัยแสงจากหิ่งห้อยในการอ่านหนังสือ ตามด้วยเรื่องราวที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดขึ้นในยุคอุตสาหกรรม ได้แก่ เรื่องขำขันของเจ้านายผู้ร่ำรวยที่ขยันตั้งชื่อให้กับสิ่งรอบตัว และเรื่องน่าเศร้าของเด็กชายไม้ขีดไฟในค่ำคืนอันเหน็บหนาว

สิ่งที่น่าชื่นชมอย่างมากคือการออกแบบเวที ฉาก และเสื้อผ้า ที่มีความน้อยแต่มาก ด้วยการหยิบจับสิ่งของที่ดูธรรมดามาเสริมรับเรื่องราวได้อย่างน่าทึ่ง สำหรับบทนั้นเห็นได้ชัดว่ามีการศึกษาข้อมูลมาเป็นอย่างดี มีแนวคิดแกนกลางที่น่าสนใจ และพยายามย่อยให้เข้าใจง่าย เห็นภาพชัดเจน แม้เนื้อหาบางส่วนยังเชื่อมโยงกันได้ไม่ค่อยราบรื่นนัก แต่ก็ชื่นชมความกล้าในการนำเสนอ โดยเฉพาะตอนเด็กชายไม้ขีดไฟที่ดูกระชากอารมณ์และไม่ได้ฟีลกู้ดเหมือนที่มักเจอในสื่อสำหรับเด็กทั่วไป ซึ่งสิ่งที่ต้องการสื่อสารในตอนนี้ดีงามมาก ส่วนเพลงก็ทำออกมาได้อย่างดีทั้งเนื้อร้องและทำนอง ถ่ายทอดอารมณ์ตามช่วงจังหวะได้เป็นอย่างดีและติดหู ทางด้านนักแสดงแม้จะมีเพียง 6 คน บวกกับนักเปียโนอีก 1 คน แต่ก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้เป็นอย่างดีทั้งการแสดงและการร้องเพลง ซึ่งมีนักแสดงหญิงที่โดดเด่นและใช้เสียงได้ดีอยู่ 2 คน ในขณะที่นักแสดงชายอีก 2 คนดูจะมีปัญหาด้านเสียงอยู่บ้างในรอบที่ดู (20 เม.ย. 2562, 13.00 น.) แต่โดยรวมแล้วการแสดงก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

แม้ว่า ‘เพลิงอารยะ’ จะมีความยาวเกือบ 2 ชั่วโมง แต่ก็เป็นการแสดงที่ดูได้เพลินๆ สำหรับผู้ใหญ่ แถมยังมีเกร็ดความรู้สอดแทรกให้เป็นระยะ ที่น่าสนใจคือการได้ดูการแสดงร่วมโรงกับเด็กน้อยจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็ตั้งใจดูละครเป็นอย่างดี มีการถามผู้ปกครองในจุดที่ไม่เข้าใจ และยังมีส่วนร่วมในการตอบคำถามกันอย่างสนุกสนานเต็มที่ จนทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราๆ หัวเราะไปกับคำถามและคำตอบของเด็กๆ ไปด้วย โดยรอบที่ดูก็มีผู้ปกครองพาเด็กๆ มาดูกันเกือบเต็มโรงละคร เลยทำให้รู้สึกว่าเด็กๆ ยุคนี้โชคดีที่มีครอบครัวส่งเสริมให้ใช้เวลาวันหยุดในการดูศิลปะการแสดง และมีคณะละครที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและรับฟังเสียงของเด็กๆ แบบนี้

ภาพจาก: https://www.facebook.com/mayariththeatre/