เบื้องหลังคลิปไวรัล BBC: แม่หรือพี่เลี้ยง?
ถ้าพูดถึงคลิปไวรัลที่เรียกเสียงหัวเราะได้ไม่น้อยตอนนี้คงหนีไม่พ้น คลิปการให้สัมภาษณ์สดทางบีบีซีของนักวิชาการที่ดูจริงจัง แต่บรรยากาศเคร่งเครียดกลับหายไปทันทีเมื่อมีหนูน้อยเปิดประตูเข้ามาทำท่าทะเล้น พร้อมด้วยน้องคนเล็กที่ไถลรถเข็นตามมาอย่างน่ารัก ซึ่งคนที่ขำไม่ออกก็คงหนีไม่พ้นผู้หญิงหน้าตื่นที่เข้ามาดึงตัวเด็กๆ ออกไปอย่างเร่งด่วน
ปัจจุบันคลิปนี้มีคนดูไปแล้วกว่า 11 ล้านครั้ง และท่ามกลางเสียงหัวเราะที่มีต่อความใสซื่อของเด็กๆ ที่เข้ามาป่วนการสัมภาษณ์สดของคุณพ่ออย่างไม่รู้ตัว ก็เกิดประเด็นที่น่าสนใจมาให้ชวนคิดว่าทำไมผู้คนบางส่วน รวมถึงสื่อบางเจ้า ถึงได้ตัดสินว่าผู้หญิงเอเชียในคลิปนั้นเป็นพี่เลี้ยงของเด็กๆ หรือพูดอีกอย่างก็คือเธอเป็นลูกจ้างของนักวิชาการชาวตะวันตก ซึ่งเห็นได้ชัดจากคอมเมนต์บนโลกออนไลน์
แต่ความจริงแล้วผู้หญิงคนนั้นชื่อ คิม จุงอา (Jung-a Kim) และเป็นภรรยาของ โรเบิร์ต เคลลี่ (Robert Kelly) อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติปูซาน เกาหลีใต้
การที่ผู้คนตัดสินล่วงหน้าว่าเธอเป็นพี่เลี้ยงก็คงหนีไม่พ้นอคติที่หล่อหลอมมาเป็นเวลานานว่า ชาวเอเชียด้อยกว่าชาวตะวันตก หรือการเข้าใจไปเองว่าคนเราจะมีคู่รักได้เฉพาะแต่คนร่วมเชื้อชาติเดียวกันเท่านั้น ซึ่งบางคนก็บอกว่าสีหน้าตื่นตระหนกของผู้หญิงในคลิปนั้นดูเหมือนกำลังกลัวว่าเธอจะถูกไล่ออกจากงาน
แต่ก็ยังมีคนไม่น้อยที่มีความเห็นแย้ง โดยมองว่านั่นคือสีหน้าของคนเป็นแม่และภรรยาที่รับรู้ได้ว่าลูกๆ กำลังขัดขวางการให้สัมภาษณ์ของสามีอยู่ ซึ่งเธอก็ต้องช่วยกู้สถานการณ์ให้ได้ และถ้าใครพอฟังภาษาเกาหลีได้ ก็จะรู้ทันทีว่าเธอคือแม่ของเด็กๆ เพราะระหว่างถูกลากออกจากห้อง ลูกคนหนึ่งเรียกเธอว่าแม่ พร้อมถามเธอว่าเกิดอะไรขึ้น
โดยคุณย่าของเด็กๆ บอกกับเว็บ Daily Mail ว่า ปกติแล้วอาจารย์โรเบิร์ตมักคุยกับครอบครัวที่อเมริกาผ่านโปรแกรมสไกป์ โดยใช้ห้องนั้นในการพูดคุย ซึ่งพอเด็กๆ ได้ยินเสียงพูดคุยสัมภาษณ์สดของบีบีซี ก็อาจนึกว่าพ่อกำลังคุยกับปู่ย่าอยู่ จึงเดินเข้ามาในห้องอย่างเริงร่าแบบนั้น
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าความจริงแล้วปัญหาการเหยียดสีผิวหรือทัศนคติแง่ลบต่อผู้หญิงเอเชียก็ยังคงมีอยู่ และอาจฝังรากลึกไปจนอยู่ในจิตใต้สำนึกเสียแล้ว
เว็บไซต์ LA Times เป็นสื่อเจ้าแรกๆ ที่สะท้อนประเด็นนี้ โดยนำเสนอว่านอกจากแม่ชาวเอเชียจะต้องเผชิญอคตินี้แล้ว แม่ของลูกครึ่งต่างเชื้อชาติก็ต้องเผชิญปัญหานี้เช่นกัน ซึ่งบางคนก็ถูกถามต่อหน้าลูกว่า “ทำงานกับครอบครัวนี้มานานหรือยัง”
ล่าสุดบีบีซีได้ลงบทความที่เขียนโดยนักข่าวอังกฤษเชื้อสายจีน Helier Cheung ซึ่งเธอก็ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ประสบด้วยตัวเอง เช่น คนมักนึกว่าเธอเรียนหมอหรือเศรษฐศาสตร์ ทั้งที่จริงแล้วเธอเรียนวรรณกรรมอังกฤษ รวมถึงเรื่องของเพื่อนนักข่าวเชื้อสายอินเดียที่ถูกพนักงานต้อนรับถามว่า “มาทำความสะอาดครัวรึเปล่า” และนักวิชาการเชื้อสายญี่ปุ่นซึ่งเล่าว่าเธอถูกคุกคามโดยคนแปลกหน้าตามท้องถนนบ่อยกว่าเพื่อนผิวขาวของเธอเสียอีก นอกจากนั้นยังนำเสนออคติที่มีต่อคู่รักต่างเชื้อชาติ เพราะดูจะผิดขนบที่ว่าคนเราควรคบแต่คนเชื้อชาติเดียวกัน
HuffPost ก็เพิ่งเผยแพร่บทความในประเด็น #NotTheNanny ได้อย่างน่าสนใจ โดยผู้เขียน Soraya Chemaly ยอมรับว่าเธอเองก็เป็นอีกคนที่คิดว่าผู้หญิงในคลิปอาจเป็นพี่เลี้ยง แม้ว่าเธอจะคิดว่าเธอไม่ได้มีอคติ แต่อคติก็เกิดจากความคิดเช่นนี้ ซึ่งเธอเองก็เคยถูกคนนอกมองว่าเธอไม่ใช่แม่ของลูกเช่นกัน นอกจากนั้นผู้เขียนยังหยิบยกประเด็นของการเป็นพี่เลี้ยงในอเมริกามานำเสนอได้อย่างน่าสนใจว่าอาชีพนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่อาชีพที่ผู้หญิงฐานะยากจนหรือเป็นผู้อพยพสามารถทำได้ ซึ่งมีสตรีผู้อพยพเกือบ 60 เปอร์เซนต์ทีเดียวที่ทำงานในเป็นพี่เลี้ยงหรือแม่บ้าน ในขณะที่มีผู้หญิงเพียง 27 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่ได้รับอนุมัติวีซ่าให้ทำงานในอเมริกา และถึงแม้พวกเธอจะได้งานทำแต่ค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ ก็ยังถูกเอาเปรียบอยู่ดี
ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจและชวนคิดจากคลิปไวรัลน่ารักๆ บนโลกออนไลน์ ที่น่าจะช่วยให้แต่ละคนได้ตั้งคำถามว่าคุณเห็นผู้หญิงคนนั้นเป็นแม่หรือพี่เลี้ยงเด็ก หรือความจริงแล้วเราไม่ควรนำบทบาทอะไรมาครอบผู้หญิงเลยรึเปล่า
ส่วนอีกบทเรียนที่อาจารย์โรเบิร์ตน่าจะได้แน่ๆ ก็คือ อย่าลืมล็อกห้องก่อนให้สัมภาษณ์สดครั้งหน้าด้วยนะคะ 😉
ป.ล. ใครเจอคลิปหรือข่าวที่อาจารย์โรเบิร์ตให้สัมภาษณ์เต็มๆ กับ BBC ช่วยส่งให้ด้วยจะดีมากเลยค่ะ อยากอ่านและดูส่วนที่เป็นเนื้อหาที่วิเคราะห์สถานการณ์เกาหลีใต้หลังประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย ถูกปลดจากตำแหน่ง
ข้อมูลจาก:
Why did people assume an Asian woman was the nanny?
Robert Kelly’s live BBC interview gatecrashed by his kids (เข้าอ่านจากประเทศไทยไม่ได้ เพราะเว็บถูกบล็อก)
#NotTheNanny: A Very Good Lesson In How Bias Works
That Asian mom is not the nanny. Why do so many people assume she is?