หลายชีวิต (2017)
หลายชีวิต (2017)
กำกับโดย พันพัสสา ธูปเทียน
★★★★☆
จากรวมเรื่องสั้นของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำวรรณกรรมเรื่อง “หลายชีวิต” มาสร้างสรรค์เป็นละครเวทีประจำปี 2559 โดยถูกเลื่อนมาแสดงต้นปี 2560 แทนกำหนดเดิมที่วางไว้
“หลายชีวิต” เริ่มต้นด้วยจุดจบของ 11 ชีวิตที่ลงเรือลำเดียวกัน ซึ่งแม้แต่ละคนจะมาจากต่างที่ ต่างนิสัย ต่างความหลัง แต่ทุกคนล้วนต้องประสบกับความตายอันยากจะหลีกเลี่ยง โดยหลังจากฉากเปิดอันน่าสะเทือนใจราวงานศิลป์ ผู้ชมก็จะได้รับรู้เรื่องราวของแต่ละคนว่าต้องผ่านอะไรมาบ้างก่อนจะก้าวเท้าลงเรือมรณะลำนั้น
ลอย ผู้ถือคติว่า “ชีวิตคือกำไร”
เสม ผู้ยึดมั่นในพระธรรม
พรรณี สตรีผู้พยายามพาตัวเองออกจากคำว่า “โสเภณี”
เล็ก ผู้ถูกหลอกหลอนด้วยฐานันดร
ผล ผู้รักการร้องลำลิเก
ละม่อม ผู้มีชีวิตเพื่อรับใช้แม่
โนรี นักเขียนมือทองที่มีเหล้าเป็นเพื่อนคู่ใจ
ลินจง แม่ผู้ยอมสละทุกอย่างเพื่อลูก
จั่น ผู้พยายามรักษาเกียรติยศศักดิ์ศรีที่ได้มา
ทองโปรย สตรีที่ดูเหมือนมีทุกสิ่งพร้อมในชีวิต
แสง หมอยาผู้ต้องการเอาชนะความตาย
ตลอด 3 ชั่วโมงครึ่งของละคร ผู้ชมจะได้เห็นเรื่องราวของทั้ง 11 ชีวิตดำเนินไปแทบจะพร้อมกัน ผ่านการเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิง โดยให้นักแสดงสลับเข้าออกผ่านช่องทางทั้ง 4 ด้านของพื้นที่การแสดง ซึ่งผู้ชมที่นั่งล้อมรอบ 4 ทิศก็จะสามารถสังเกตรายละเอียดทางอารมณ์ของนักแสดง เครื่องแต่งกาย หรืออุปกรณ์ประกอบฉากได้แตกต่างกัน จึงชวนให้ติดตามไปตลอดทั้งเรื่อง
แม้จะแตกต่างในรายละเอียด แต่มนุษย์หลายชีวิตล้วนต้องเผชิญปัญหากันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความรัก ความผิดหวัง ความยึดติด การไม่รู้จักพอ การผิดคำมั่นสัญญา การถูกตีกรอบโดยขนบธรรมเนียมของสังคม ซึ่งบ้างก็เกิดขึ้นเองตามครรลองของชีวิต บ้างก็เกิดขึ้นจากผลการกระทำของตัวเอง บ้างก็เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิดโดยที่เราไม่สามารถเลือกรับหรือปฏิเสธได้เลย
“หลายชีวิต” สะท้อนให้เห็นว่าความตายคือสิ่งที่แน่นอนที่สุดของทุกชีวิต ไม่ว่าใครจะทำกรรมดีหรือกรรมชั่วไว้ แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นมรณกรรม แต่ความตายอาจมีความหมายแตกต่างกันไปในมุมมองแต่ละคน บ้างก็เป็นทางออกของปัญหา บ้างก็เป็นหนทางสู่ความสุข บ้างก็คือความว่างเปล่า บ้างก็เป็นการดับฝัน บ้างก็มองว่าเป็นการลงโทษจากเบื้องบน
ด้วยความที่ปมของตัวละครหลายตัวก่อมาจากความรัก ความสัมพันธ์ เพศสัมพันธ์ หรือการแต่งงาน จึงทำให้บทบาทของผู้หญิงในเรื่องนี้สะท้อนออกมาได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นตัวละครหลักหรือรอง เช่น หญิงงามผู้มีจิตใจดีอย่างลินจง แต่ทำไมกลับต้องเผชิญความทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งการจากไปของสามี รวมถึงการมีลูกที่บกพร่องทางสติปัญญา หรือทองโปรย ผู้เพียบพร้อมทุกอย่างทั้งทรัพย์สินและครอบครัวที่รักเธอ แต่กลับไร้ความสุขกับความสมบูรณ์แบบจนเกินไปของชีวิต ซึ่งทั้งลินจงและทองโปรยคล้ายกันตรงที่พวกเธอ “เลือก” หรือ “ไม่มีทางเลือก” ที่จะเอาตัวออกมาจากปัญหาชีวิตเหล่านั้น เพราะติดกรอบที่สังคมวางไว้
โดยหากจะเปรียบเทียบสตรีผู้แสนดีทั้งสองกับสตรีที่ดูร้ายของเรื่องอย่างละม่อมแล้วพรรณีแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าผู้หญิงสองคนหลังนั้น “เลือก” หรือ “ไม่มีทางเลือก” ที่จะทลายกรอบต่างๆ ในชีวิตไปหมดสิ้น เพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นวิบากกรรมชีวิต ซึ่งปัญหาเดียวของละม่อมที่ทำให้ความรักเดียวในชีวิตหลุดลอยไปก็คือแม่ เมื่อไม่มีแม่แล้ว เธอก็เป็นอิสระ ในขณะที่ชีวิตพรรณีต้องพลิกผันเพราะเซ็กซ์และผู้ชาย เธอก็ใช้เซ็กซ์และผู้ชายนี่แหละเป็นบันไดที่จะทำให้ชีวิตเธอดีขึ้น โดยสะท้อนออกมาได้อย่างชัดเจนและน่าสะพรึงในฉากที่พรรณีนอนร้องเพลงอย่างอารมณ์ดีหลังเสร็จกิจ ซึ่งฝั่งตรงข้ามมีผู้หญิงกำลังผูกคอปลิดชีพตัวเอง หลังถูกย่ำยีและสูญเสียแม่ไปด้วยน้ำมือของผู้ชายคนเดียวกัน
นอกจากเครื่องแต่งกาย การแต่งหน้าทำผม อุปกรณ์ประกอบฉากที่ดูละเมียดเข้ายุคสมัยแล้ว การออกแบบพื้นที่การแสดงและการจัดไฟยังทำได้อย่างน่าชื่นชม ซึ่งช่วยเสริมการเล่าเรื่องได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการเลือกนำเสนอเรือในรูปแบบนี้ที่ทำให้ภาพเหตุโศกนาฏกรรมดูราวกับเป็นงานศิลปะจัดวาง (Installation art) และขอปรบมือให้ทีมสเตจที่ต้องสตรองเป็นอย่างมากในการเลื่อนแท่นแสดงเข้าออกตลอดเวลา
ขาดไม่ได้คือนักแสดงผู้สวมบทบาทในอีกชีวิตได้อย่างเข้าถึง โดยเฉพาะผู้รับบทเป็น ละม่อม พรรณี และลอย ที่แสดงได้อย่างโดดเด่น รวมถึงนักแสดงรับเชิญ พ่ออี๊ด-สุประวัติ ปัทมสูต ที่มาร้องรำในบทลิเกที่ถนัด นอกจากนั้นนักแสดงประกอบ (ensemble) หลายคนยังได้แสดงศักยภาพในละครเรื่องนี้ โดยการพยายามสวมบทบาทหลากตัวละครให้ดูแตกต่างที่สุดด้วยสำเนียงพูด ท่าทาง หรือรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งบางคนที่ทำได้ไม่ดีนักก็อาจพาให้คนดูงงได้ว่าขณะนั้นกำลังสวมบทละครตัวไหน ในเรื่องราวของใครอยู่ รวมไปถึงพลังในการแสดงที่ไม่คงที่ จนบางตอนไม่สามารถโปรเจกต์เสียงได้และทำให้ผู้ชมฟังไม่ออกว่าพูดอะไร อีกจุดที่ดูเป็นดาบสองคมคือการแสดงของแม่ละม่อม ที่บางครั้งดูขบขันเกินไปจนอาจทำให้มีคนดูหลุดหัวเราะในฉากวิกฤตของตัวละคร