มังกรสลัดเกล็ด (ฉบับพิเศษ)(2016)

ภาพจากเพจมังกรสลัดเกล็ด ฉบับพิเศษ www.facebook.com/events/896598803783619
ภาพจากเพจมังกรสลัดเกล็ด ฉบับพิเศษ www.facebook.com/events/896598803783619

 

 

“กูชายชาญชาติเชื้อ ชาตรี

กูเกิดมาก็ที หนึ่งเฮ้ย

กูคาดก่อนสิ้นชี- วาอาตม์

กูจักไว้ลายเว้ย โลกให้แลเห็น”

 

บทโคลงสะท้อนปณิธานแน่วแน่ที่นำมาใส่ในท่วงทำนองเพลงฮึกเหิมยังคงเวียนวนอยู่ในหัวตั้งแต่ได้ฟังครั้งแรกเมื่อปีก่อน ตอนนี้บทเพลงนั้นได้กลับมาบรรเลงอีกครั้งในละครร้อง “มังกรสลัดเกล็ด (ฉบับพิเศษ)” ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตและอุดมการณ์ของ “ป๋วย อึ๊งภากรณ์”

 

หลังเปิดแสดงครั้งแรกแบบเล็กๆ ในปี 2556 “มังกรสลัดเกล็ด” ได้มีการรีสเตจครั้งแรกอย่างยิ่งใหญ่ในปี 2558 ซึ่งนอกจากจะเปลี่ยนไปแสดงที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ยังได้คนดังมาร่วมแสดง พร้อมด้วยนักแสดงสมทบอย่างคับคั่ง ในปี 2559 ซึ่งครบวาระ 100 ปี ชาตกาล “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” จึงมีการรีเสตจละครร้องเรื่องนี้อีกครั้ง โดยหวนคืนสามัญกลับมาเป็นละครโรงเล็ก จัดแสดงที่ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

อ่านรีวิว: มังกรสลัดเกล็ด เดอะมิวสิคัล (2015)

 

“มังกรสลัดเกล็ด (ฉบับพิเศษ)” เริ่มเล่าจากสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อป๋วยวัยหนุ่มในฐานะเสรีไทยถูกทางการควบคุมตัวด้วยข้อหาทรยศชาติที่จังหวัดชัยนาท แต่ป๋วยก็ตัดสินใจไม่ปลิดชีวิตตัวเอง ด้วยความหวังว่าจะสามารถทำภารกิจให้ลุล่วง และเห็นว่าการมีชีวิตอยู่เป็นสิ่งสวยงาม หลังจากนั้นละครได้เล่าถึงเส้นทางการทำงานของป๋วยตั้งแต่ที่กระทรวงการคลัง ขึ้นมาเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการคลัง คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยไม่ลืมที่จะสอดแทรกเรื่องราวของกองหนุนสำคัญอย่างครอบครัว

 

ภาพจากเฟซบุ๊ก Anatta Theatre Troupe (http://www.facebook.com/anattatheatre)
ภาพจากเฟซบุ๊ก Anatta Theatre Troupe (http://www.facebook.com/anattatheatre)

 

หลังชม “มังกรสลัดเกล็ด” มาสองเวอร์ชั่น สังเกตได้ว่าในฉบับพิเศษนี้จะขับเน้นป๋วย ในฐานะมนุษย์ธรรมดาผู้มีอุดมการณ์แน่วแน่ แต่ก็มีข้อบกพร่องในชีวิต ทำผิดพลาดได้ ไม่ได้สมบูรณ์แบบหรือสูงส่งกว่าใคร แต่ไม่ว่าชีวิตจะผกผันเพียงใด ป๋วยก็ยังคงยึดมั่นในคุณธรรมสามข้อ ได้แก่ ความจริง ความงาม และความดี ที่ทำให้ผ่านพ้นแต่ละบททดสอบชีวิตไปได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี จนได้รับฉายา “คนตรงในประเทศคด” โดยละครได้นำสุนทรพจน์และบทความของป๋วยมาสอดแทรกเป็นบทพูดและเพลงร้องอยู่ตลอดเรื่อง ซึ่งน่าจะทำให้ผู้ศึกษาประวัติยิ่งอินได้ไม่ยาก หรือถ้าใครไม่ได้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ พอดูแล้วก็อาจจะอยากหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น

 

อ่านหนังสือ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์: ประสบการณ์ชีวิตและข้อคิดสำหรับหนุ่มสาว

 

การได้ชมละครเรื่องนี้อีกครั้ง ยิ่งชวนให้คิดเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตกับปัจจุบัน จนอดสงสัยไม่ได้ว่าสุดท้ายแล้วคนเราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลยหรือ ซึ่งความจริงแล้วอาจต้องบอกว่าสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นในตอนนั้นแทบไม่ได้รับการพูดถึง รวมถึงเรื่องราวที่ค้างคาก็ยังคงไม่ได้รับการชำระจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

 

จะมีใครที่กล้ายืนหยัดต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อชีวิต ท่ามกลางผู้คนที่หวังตักตวงผลประโยชน์ใส่ตัว ใครจะกล้าลุกขึ้นมาค้านโดยการกล่าวสุนทรพจน์ท้วงติงผู้นำ และเขียนจดหมายทวงประชาธิปไตยให้ประเทศ ใครจะสามารถรักษาคำสาบานที่ว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมือง จนกว่าจะเกษียณอายุราชการ เพียงเพราะจะพิสูจน์ตัวเองว่าไม่ได้หวังแสวงผลประโยชน์จากการเป็นเสรีไทย

 

หรือแม้แต่ตอนที่ถูกฝ่ายขวากล่าวหาว่าสนับสนุนนักศึกษาคอมมิวนิสต์ให้ทรยศประเทศ รวมถึงนักศึกษาเองที่กล่าวหาว่าป๋วยเป็นเผด็จการ แต่สุดท้ายป๋วยก็ยังคงเคารพความคิดของคนหนุ่มสาวที่พร้อมยืนหยัดต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ ซึ่งดูแล้วไม่แตกต่างจากตัวเขาเองในสมัยก่อน

 

การรักษาตัวตนและอุดมการณ์ไว้ได้จวบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิตได้ทำให้มังกรตัวนี้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง หลังจากที่ได้สลัดเกล็ดอันสวยงามแต่หนักอึ้งไว้เบื้องล่าง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้สานต่อและถักทอเกล็ดขึ้นใหม่จนกลายเป็นมังกรที่สง่างามต่อๆ ไป

 

ภาพจากเฟซบุ๊ก Anatta Theatre Troupe (http://www.facebook.com/anattatheatre)
ภาพจากเฟซบุ๊ก Anatta Theatre Troupe (http://www.facebook.com/anattatheatre)

 

การปรับบทให้กระชับขึ้นช่วยทำให้ดำเนินเรื่องไปอย่างรวดเร็ว โดยไปเน้นเฉพาะส่วนที่ต้องการจริงๆ แต่การไม่ปูพื้นฐานตัวละครบางตัวก็ส่งผลให้ไม่ซาบซึ้งกับเรื่องเท่าที่ควร เช่น ป้าที่ชัยนาท หรือแม่ป๋วยเอง รวมถึงบางฉากที่หากใส่ที่มาที่ไป หรือมีสัญลักษณ์ที่ชัดเจนกว่านี้อาจช่วยให้ดำเนินเรื่องได้ราบรื่นกว่าเดิม

 

สำหรับนักแสดงที่สมควรยกย่องคงหนีไม่พ้น “สปาย – ภาสกรณ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์” ที่แสดงเป็นป๋วยในสามช่วงอายุได้อย่างน่าชื่นชม ยิ่งเสียงร้องยิ่งหายห่วง เพราะเป็นคนเนื้อเสียงดีมีเสน่ห์ ซึ่งตอนที่ร้อง “กูชายชาญชาติเชื้อ ชาตรี” เป็นครั้งแรกก็ทำให้ทึ่งไม่น้อย พอมาร้องท่อนนี้ครั้งสุดท้ายก็ทำเอาทำบ่อน้ำตาแตกไปเรียบร้อย หายห่วงจากที่ตอนแรกกังวลว่าจะสวมบทบาทป๋วยในวัยชราไหวรึเปล่า เพราะในเวอร์ชั่นก่อน “อี๊ด – สุประวัติ ปัทมสูต” แสดงไว้ได้ลุ่มลึกและมีมิติมาก ซึ่งก็เป็นไปในทางเดียวกับ “ส้มโอ – ธัญญรัตน์ ประดิษฐ์แท่น” ที่แสดงเป็น มากาเร็ต ภรรยาของป๋วยได้อย่างลงตัว แต่ส่วนตัวยังคงประทับใจและให้คะแนนการแสดงของ “เบียร์ – มนทกานติ รังสิพราหมณกุล” มากกว่าสักหน่อย เพราะผสมผสานความแกร่งและความรักของภรรยาผู้เข้าใจสามีได้เป็นอย่างดี เพียงแค่เห็นประกายในดวงตาของเขา ด้านรพีที่แสดงโดย “ตั้ว – ประดิษฐ ประสาททอง” ก็ยังคงสะท้อนภาพบุคคลขั้วตรงข้ามของป๋วยได้เป็นอย่างดี ซึ่งแม้ว่าจะมีอุดมการณ์คล้ายกันในตอนต้น แต่ก็แปรเปลี่ยนไปตามสภาพสังคมและผู้คนที่รายล้อม

 

ภาพจากเฟซบุ๊ก Anatta Theatre Troupe (http://www.facebook.com/anattatheatre)
ภาพจากเฟซบุ๊ก Anatta Theatre Troupe (http://www.facebook.com/anattatheatre)

 

ด้วยความที่เป็นละครโรงเล็ก ฉากที่ขับอารมณ์ของตัวละครจะได้ผลมาก เช่น ฉากซึ้งๆ ระหว่างป๋วยกับมากาเร็ต แต่ในรอบที่ไปดูรู้สึกว่านักแสดงหลายคนล้าจนทำให้บางฉากขาดพลัง โดยเฉพาะฉากประท้วงและฉากต่อสู้ที่ใช้นักแสดงไม่มากนักมาแทนแต่ละฝ่าย ซึ่งพอส่งพลังมาไม่ถึงแล้วเลยไม่ค่อยรู้สึกอินกับฉากนั้น ยกเว้นฉากรพินทร์กับธงชาติที่ออกแบบท่าได้ดีมากและเล่นได้มีพลัง ซึ่ง “บิทเติ้ล – สุขุมพันธ์ ฐิติธนพันธ์” สวมบทรพินทร์ในเวอร์ชั่นนี้ได้ลงตัวขึ้นและส่งพลังให้ผู้ชมได้มากกว่าคราวก่อน ด้วยความที่อยู่ใกล้ชิดคนดูมากขึ้น ส่วนนักแสดงหน้าใหม่ผู้มารับบทใจก็เล่นได้น่ารัก ดูมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ทั้งด้านการแสดงและร้องเพลง ซึ่งถ้าฝึกโปรเจกต์เสียงและออกเสียงคำให้ชัดเจนกว่านี้จะดีมาก

 

ฟากดนตรีก็น่าชื่นชมและเข้มข้นทีเดียว แม้จะมีนักดนตรีเพียงสี่คน พร้อมด้วยผู้อำนวยการเพลงคนเดิม “คานธี วสุวิชย์กิต” แต่ก็ทำให้หลายครั้งใจไปจดจ่ออยู่กับเสียงบรรเลงจนไม่ได้ฟังสิ่งที่นักแสดงกำลังพูด  

 

การจัดแสงและเวทีก็ทำได้สมมาตรฐาน ชอบการฉายภาพหนังสือพิมพ์บนม่าน แต่หลายครั้งรู้สึกว่าแสงเป็นอุปสรรคในการอ่านซับไตเติ้ล หากมีคนต่างชาติเข้ามาชม ส่วนการแต่งหน้าทำผมก็ทำได้ดี โดยเฉพาะวิวัฒนาการของตัวละครป๋วยและมากาเร็ต

 

“มังกรสลัดเกล็ด (ฉบับพิเศษ)” ยังเหลืออีกเจ็ดรอบในวันที่ 31 สิงหาคม – 4 กันยายนนี้ เวลา 19.00 น. โดยเพิ่มรอบ 14.00 น. ในวันเสาร์และอาทิตย์ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจ มังกรสลัดเกล็ด ฉบับพิเศษ / Dragon’s Heart Special Edition

 

แก้วตา
31.08.16