“มนต์รักทรานซิสเตอร์” ในรูปแบบละครเวที
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกทาง:
เว็บไซต์มติชน (วันที่ 6 กันยายน 2565)
หนังสือพิมพ์มติชน (วันที่ 12 กันยายน 2565)
ความรักที่ต้องเผชิญอุปสรรคมากมายของ “แผน” หนุ่มคนซื่อผู้หลงใหลการร้องเพลง กับ “สะเดา” สาวน้อยผู้เดียงสา ท่ามกลางบรรยากาศชนบท คือเรื่องราวที่หลายคนยังตราตรึงใจจาก “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ซึ่งเป็นนวนิยายจากปลายปากกาของวัฒน์ วรรลยางกูร ที่ตีพิมพ์ในปี 2524 โดย 20 ปีหลังจากนั้น เป็นเอก รัตนเรือง ก็ได้นำวรรณกรรมเรื่องนี้มาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์และออกฉายในเดือนธันวาคมปี 2544 ซึ่งประสบความสำเร็จไม่น้อย พร้อมสร้างชื่อให้กับคู่พระ-นางอย่าง ต๊อก – ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ และ อุ้ม – สิริยากร พุกกะเวส ก่อนจะถูกนำมาสร้างเป็นละครทีวีในปี 2561 ใน “มนต์ฮักทรานซิสเตอร์ สะออนซอนเด” กำกับโดย ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล
ในปีนี้ “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ได้กลับมาอีกครั้งในรูปแบบละครเวทีที่กำกับโดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีผู้คว้ารางวัลมากมายทั้งในไทยและต่างประเทศจากสารคดีสั้นเรื่อง “ไกลบ้าน” ซึ่งเล่าถึงชีวิตลี้ภัยของวัฒน์ วรรลยางกูร ในประเทศลาว โดยธีรพันธ์ยังคลุกคลีอยู่ในวงการละครเวทีมานาน และได้โอกาสมากำกับละครเวทีเป็นครั้งแรกด้วยการสนับสนุนจากโครงการศิลปะการแสดงครั้งที่ 11 (Performative Art Project #11) โดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และจัดแสดงโปรเจกต์ในฝันเรื่องนี้ระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม จนถึงวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา
สำหรับ “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ในรูปแบบละครเวทีทำให้ผู้ชมตื่นตาตั้งแต่ก้าวขาเข้าไปยังชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ด้วยฉากหลังขนาดใหญ่ที่เป็นรูปวาดคล้ายฉากในโรงลิเกที่แต่งแต้มบรรยากาศชนบทด้วยท้องนา ภูเขา ต้นไม้ กระต๊อบ ซึ่งดูสงบสุข สวนทางกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเบื้องหน้าที่จำลองฉากงานวัดท่ามกลางแสงนีออนอันวุ่นวายเพื่อเปิดตัวคู่พระ-นาง นักแสดงสมทบ และตัวประกอบที่ใส่เสื้อยืดสีดำสกรีนคำว่า “เอ็กซ์ตร้า” โดยมีถุงพลาสติกพองลมจำนวนมากเรียงรายอยู่บนพื้น
หลังจากนั้น เรื่องราวก็เล่าไปตามนวนิยายถึงอุปสรรคของ “แผน” และ “สะเดา” ตั้งแต่ผู้ขัดขวางความรักอย่าง “ตาเฉย” พ่อของสะเดา และ “เสี่ยน้อย” ไปจนถึงวิทยุทรานซิสเตอร์ที่นำพาข่าวสารข้อมูลไปยังพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการเกณฑ์ทหาร สังคมในเมืองหลวง “ป๋า” หัวหน้าวงดนตรีที่แผนฝากชีวิตและความฝันไว้ ก่อนต้องหนีไปเป็นคนงานในไร่แล้วเจอ “เสี่ยว” เพื่อนร่วมงานรุ่นพี่ และ “หยอด” หัวหน้าจอมโหด ซึ่งแต่ละคน แต่ละปัจจัย ล้วนมีส่วนที่ทำให้ชีวิตของตัวละครนำทั้งคู่ต้องพลัดพรากและพลิกผัน
ตลอด 2 ชั่วโมงของการแสดง แม้จะพอรู้เรื่องราวอยู่แล้ว แต่ก็ชวนติดตามว่าในฉบับละครเวทีนี้จะนำเสนอออกมาอย่างไร ซึ่งชื่นชมความตั้งใจของธีรพันธ์ในการถ่ายทอดประเด็นในเรื่องอย่างมีชั้นเชิงผ่านการนำเสนอที่มีการทดลองและมีการผสมผสานความเป็นภาพยนตร์-มัลติมีเดียลงไป ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบฉากที่คล้ายกับเฟรมภาพซึ่งมีทั้งภาพแคบโดยมีม่านมาบังเพื่อสื่อถึงสังคมเมือง การตีกรอบ ความอึดอัด ในขณะที่ภาพของชนบทจะเป็นภาพกว้างแบบพาโนรามาที่เปิดพื้นที่ให้พอหายใจได้มากกว่า รวมถึงการนำวิดีโอมาฉายขึ้นจอพร้อมพากย์เสียงมาช่วยเล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจ ประกอบกับเสียงดนตรีที่แสดงสดโดย แอน – มณีรัตน์ สิงหนาท เพื่อสื่อถึงบรรยากาศชนบท และมีคานธี วสุวิชย์กิต นักดนตรีและนักแต่งเพลงฝีมือดี เป็นผู้กำกับเสียง
อย่างไรก็ตาม ในรอบที่ไปดูถือเป็นรอบแรกๆ ของการแสดง หลายอย่างอาจยังไม่ลงตัว เช่น จังหวะการแสดง จังหวะการเปลี่ยนฉากซึ่งกินเวลานาน จนทำให้เรื่องขาดช่วงกันเป็นห้วงๆ ซึ่งอาจส่งผลให้อารมณ์ของผู้ชมไม่ต่อเนื่อง นอกจากนั้น การวางไดเรกชันให้เรื่องราวดู “fluid” มีความลื่นไหลทางเพศจากการให้นักแสดงสลับบทบาทเป็นทั้งชายและหญิงคล้ายละครไทยสมัยก่อน รวมถึงความลื่นไหลทางด้านเวลา จากการไม่ได้ระบุช่วงเวลาที่เรื่องราวเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ในฉากเดียวกันบางครั้งเสื้อผ้าและภาษาพูดดูเหมือนจะอยู่คนละยุคกัน หรือการที่ตัวละครใส่เสื้อผ้าที่ดูใหม่มีรอยจีบเหมือนเพิ่งแกะออกมาใช้ตลอดเวลา ก็อาจทำให้ผู้ชมสงสัยและตั้งคำถามระหว่างชมได้เช่นกัน
สำหรับการแสดง ณัฐพงศ์ รัตนเมธานนท์ ที่มารับบท “แผน” ก็ดูมีเสน่ห์น่าติดตามในทุกช่วงอารมณ์ ร้องเพลงเพราะ ส่วน “สะเดา” ที่แสดงโดยอัจฉรียา โพธิพิพิธธนากร ที่เพิ่งมาแสดงละครเวทีครั้งแรก ก็ดูเข้ากับบทบาทและร้องไห้เหมือนสั่งได้ แม้จะยังดูไม่คุ้นกับการแสดงรูปแบบนี้นัก แต่เชื่อว่าถ้าแสดงไปหลายๆ รอบน่าจะไหลลื่นยิ่งขึ้น ซึ่งพอทั้งคู่มาแสดงฉากกุ๊กกิ๊กกันก็ดูน่ารักดี แต่ด้วยจังหวะของเรื่องทำให้ไม่ค่อยรู้สึกถึงความรักที่ลึกซึ้งของตัวละครทั้งสองเท่าไร
นอกจากนั้น หนึ่งในความสนุกของการดูละครเรื่องนี้ก็คือการติดตามว่านักแสดงประกอบที่มีเพียง 4 คนจะออกมาในบทไหนอีก โดยสายฟ้า ตันธนา โดดเด่นเป็นอย่างมากกับการแสดงถึง 6 บทบาทซึ่งล้วนแต่เป็นอุปสรรคของตัวละครหลักในหลากวัยหลายอาชีพ ขณะที่นวลปณต ณัฐ เขียนภักดี ก็มีเสน่ห์มากกับบทนักร้องสาวผู้ตั้งคำถามถึงความฝันอันบริสุทธิ์ รวมถึงการสวมบทตัวละครที่เป็นเพศชาย ส่วนเสฎฐวุฒิ จันทร์เพ็ญสุข ก็เอาอยู่ทั้งบทฮา จริงจัง และซึ้ง ได้ใจไปเต็มๆ กับบทเซลล์ขายยาคารมดี ด้านสกาว กานต์กรกมล และกานต์ธิดา กระตุดเงิน ก็แสดงได้น่าจดจำในทุกบทบาทเช่นกัน
หลังชม “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ในรูปแบบละครเวทีจบ นอกจากจะทำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความกดทับทางชนชั้น ยังทำให้เห็นเส้นทางชีวิต “แผน” ชัดเจนขึ้นว่าเขาความพยายามทำสิ่งที่คิดว่าดีซึ่งอาจจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนรักและครอบครัว แต่กลับต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย จนต้องระหกระเหินไปไกลกว่าจะได้กลับบ้านอย่างบอบช้ำทั้งกายและใจ ซึ่งดูไม่ต่างจากหลายคนที่พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่กลับเผชิญอุปสรรคจนต้องจากไปไกลบ้านและไม่รู้ว่าอีกนานเพียงไหนถึงจะสู่ฝั่งฝัน