ปั๊มน้ำมัน (2016)
ปั๊มน้ำมัน (2016)
กำกับ เขียนบท และโดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
เรื่องย่อ:
เรื่องราวความรักหลายเส้า(และเศร้า)เกิดขึ้นที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง ณ ดินแดนที่ดูไกลโพ้น โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ ‘มั่น’ เจ้าของปั๊มที่มักปรากฏตัวในชุดคาวบอย(และหลายครั้งก็เปลือยอก) ซึ่งรอคอยการกลับมาของ ‘นก’ ภรรยาที่หายตัวไปหลังแต่งงานได้ไม่นาน แต่เขาไม่ได้เป็นคนเดียวที่รอ เพราะยังมี ‘เจ้มัท’ แม่ค้าขายของชำรุ่นใหญ่ที่ชุดไทยสีแดงตลอดเวลา รวมถึง ‘ฝน’ เด็กสาววัยกระเตาะ ที่คอยแวะเวียนมาปั๊มน้ำมันแห่งนี้ รอวันที่ ‘มั่น’ จะหันมามองพวกเธอบ้างสักครั้ง
แก้วตาให้: ★★★★☆
เสน่ห์ของ ‘ปั๊มน้ำมัน’ อยู่ที่การเล่าเรื่องแบบซื่อๆ ถึงความรักและการรอคอยที่ทำให้ผู้ชมได้รู้จักตัวละครทั้ง 4 ไปทีละน้อย โดยฉากร้องคาราโอเกะเพลง ‘รักได้แค่คนเดียว’ ก็น่าจะช่วยสรุปความคิดอ่านของตัวละครได้เป็นอย่างดี
หากมองในฐานะหนังรัก ‘ปั๊มน้ำมัน’ ก็สะท้อนความรักที่หลายครั้งดูไร้เหตุผลได้หลากหลายมิติ บางคนอาจฝังใจกับคนที่รู้สึกรัก กับคนที่เคยผูกพัน หรือกับคนที่รู้สึกว่าเขาคิดอะไรลึกซึ้งด้วย เลยตั้งปณิธานว่าจะรอ ‘รักแท้’ คนนี้คนเดียวไปตลอด ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าอีกฝ่ายเป็นอย่างที่คิดจริงหรือไม่
การรอคอยของ ‘มั่น’ จึงดูสูงส่งและมีอุดมการณ์มาก เพราะเขาเชื่อว่า ‘นก’ คือรักแท้ที่เขาเฝ้ารอมานาน ยอมอดใจรอก่อนแต่งงานเกือบ 6 ปี และยังรอต่อไปหลังแต่งงานรวมแล้วเกือบ 20 ปี โดยคงความซื่อสัตย์ทั้งกายและใจ ไม่สนใจสาวคนไหนเลยระหว่างนั้น ถ้ามาเทียบกับ ‘เจ้มัท’ ถึงแม้ว่าเธอจะจริงจังกับ ‘มั่น’ และคอยดูแลใส่ใจมาหลายสิบปี แต่เธอก็มีสามีอยู่แล้ว การไปปันใจให้ชายอื่นก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีนัก หรือ ‘ฝน’ เองที่บอกว่ารัก ‘มั่น’ แต่ก็ไป ‘ดูๆ’ หนุ่มรุ่นเดียวกันคนอื่นอีกหลายคน จนทำให้ไม่แน่ใจนักว่าเธอรัก ‘มั่น’ จริงอย่างที่ว่ารึเปล่า
แต่ด้วยบทที่ไม่ได้นำเสนอ ‘มัท’ และ ‘ฝน’ แค่ผิวเผิน คนดูเลยได้รู้เหตุผลที่ทำให้ทั้งคู่รอคอยและทุ่มเทเพื่อผู้ชายคนเดียวกันขนาดนี้ ซึ่งในชีวิตจริงก็มีคนแบบนี้จำนวนไม่น้อยที่รักหรือเชื่ออะไรโดยปราศจากเหตุผล เน้นทำตามความรู้สึก และไม่ได้คาดหวังอะไรตอบแทน นอกจากอยากให้คนที่เรารักมีความสุข เราจึงได้เห็นภาพที่ ‘มัท’ และ ‘ฝน’ ต่างเฟดตัวตอนที่ ‘นก’ ปรากฏตัว หรือได้เห็นน้ำตาที่ไหลออกมาของผู้รอ กับการแค่ได้ป้อนอาหารให้กับคนที่เธอรัก
การปรากฏตัวของทั้งคู่ทำให้เกิดสีสันบนจอเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากตัวบทแล้ว การแสดงของ ‘ต่าย – เพ็ญพักตร์ ศิริกุล’ ในฉากซึ้งท้ายเรื่องที่ค่อยๆ กรีดแทงคนดู รวมถึงการถ่ายทอดพัฒนาการของ ‘ฝน’ โดย ‘แม็กกี้ – อาภา ภาวิไล’ ยังมีเสน่ห์จนเชื่อได้ว่าทั้งคู่น่าจะมีชื่อเข้าชิงรางวัลใหญ่ได้ไม่ยาก
อย่างไรก็ตามการคลี่คลายปมสำคัญของเรื่องในตอนท้ายกลับไม่ทรงพลังเท่าที่ควร อาจมาจากการที่รู้สึกแปลกแยกกับตัวละครตัวนั้นแต่แรกอยู่แล้ว ซึ่งเหตุผลที่ให้มาก็ดูจะไม่สามารถนำมาหักล้างกับก้าวเดินที่ผิดพลาดหลังจากนั้น เพราะสุดท้ายแล้วคงต้องโทษตัวเองมากกว่าปมที่ผลักดันให้พบกับปัญหาในชีวิต รวมถึงตัวละครอีกฝ่ายเองก็มีส่วนผิดกับเรื่องทั้งหมดนี้ แต่ก็เข้าใจว่าการคลี่คลายเรื่องไปในทางนี้จะสะท้อนสภาวะสังคมได้ดีกว่าการพาเรื่องไปในทิศทางอื่น
‘กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน’ เป็นผู้กำกับที่ทำหนังดราม่าเกี่ยวกับความรักได้ดี และด้วยความที่เจ็บปวดมาเยอะกับหนังเรื่องก่อนๆ (เช่น Insects in the Backyard ที่ถูกแบนไปในปี 2553 และต้องต่อสู้ในศาลปกครองไปกว่า 5 ปี จนในที่สุดจะได้เข้าฉายในปี 2560 โดยต้องตัดฉากที่มีปัญหาออกไป 3 วินาที) ในหนังเรื่องนี้จึงสอดแทรกเรื่องราวทางการเมืองไทยได้อย่างแยบยล แต่ก็ไม่ยากที่จะตีความ
โดยหากผู้ชมจะคิดตามไปว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้น เมื่อเทียบกับในหนังแล้วเป็นช่วงที่ตัวละครใดเข้ามาในชีวิตอีกคน ซึ่งสื่อแนวความคิดทางการเมืองต่างๆ ผ่านเครื่องแต่งกายอย่างชัดเจนอยู่แล้ว เช่น ‘เจ้มัท’ ที่มักปรากฏตัวในชุดไทยสไบยาวสีแดง ‘มั่น’ ที่อยู่ในชุดคาวบอยดูบ้านๆ หรือ ‘ฝน’ ที่เปลี่ยนจากเด็กสาวใสๆ ในชุดสโนว์ไวท์ เซเลอร์มูน ไปเป็นแคทวูแมน วันเดอร์วูแมน ไปจนถึงชุดเรียบง่ายแต่แฝงนัยยะในตอนท้าย
คนเราล้วนเชื่อในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเชื่อ ยึดมั่นในภาพที่ตัวเองอยากจะยึด และหวังลมๆ แล้งๆ ว่าอนาคตจะได้สิ่งที่ต้องการ โดยใช้ความหวังนั้นเป็นแรงผลักดันในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรักหรือความเชื่อต่างๆ ในสังคม ซึ่งการพยายามแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองไม่ใช่เรื่องผิด แต่คงไม่ดีแน่หากไปบังคับให้คนอื่นทำตามใจเรา
ตัวละครหลายตัวในเรื่องพยายามพูดถึงเรื่องสิทธิส่วนบุคคล พร้อมยืนยันว่าจะไม่ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของคนอื่น แต่การไม่พูด ไม่ถาม และกดดันโดยใช้ ‘ความดี’ นี่กลับทำลายความสัมพันธ์ยิ่งกว่าเดิม เพราะนอกจากจะทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังก่อให้เกิดความไม่ไว้ใจอีกฝ่ายและการกลัว ‘ความจริง’ ซึ่งหากแต่ละฝ่ายยอมเปิดใจเผชิญหน้ากับความจริงตั้งแต่แรก รอยร้าวคงไม่ขยายวงกว้างอย่างเช่นในปัจจุบัน
ปั๊มน้ำมันอันโดดเดี่ยวแห่งนี้ยังคงเป็นเพียงทางผ่านของนักเดินทาง ไม่ต่างจากความรักและการรอคอยที่ล้วนมีทั้งสมหวังและผิดหวัง บางคนก็อาจฝังใจกับอดีตอันรุ่งเรืองจนไม่กล้าก้าวต่อไป หรือบางคนก็ ‘อยู่เป็น’ และปรับตัวได้ตามสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยน แต่ไม่ว่าจะเลือกทางไหน คงจะดีหากเราได้พยายามสู้เพื่อสิ่งที่เชื่อแล้ว ไม่ใช่เอาแต่นั่งรอให้สิ่งที่ต้องการเกิดขึ้นเอง และจะดีที่สุดหากเราสามารถปลงเปลื้องพันธนาการจากความเชื่ออันปราศจากเหตุผลเหล่านั้นได้ โดยเปิดใจรับฟังความจริงที่เกิดขึ้น
‘ปั๊มน้ำมัน’ ฉายที่ House RCA เป็นสัปดาห์สุดท้าย ติดตามรายละเอียดการฉายเพิ่มเติมได้ที่เพจปั๊มน้ำมัน