น้ำตาลไม่หวาน (2507)

 

น้ำตาลไม่หวาน (2507)
โดย รัตน์ เปสตันยี

 

“น้ำตาลไม่หวาน” เป็นภาพยนตร์รักและตลกเสียดสีที่ผู้กำกับ รัตน์ เปสตันยี ตั้งใจเสียดสีขนบภาพยนตร์ไทยในยุคนั้น ถึงแม้ว่าจะล้มเหลวด้านรายได้ในยุคนั้น แต่พอนำกลับมาฉายอีกครั้งให้คนยุคปัจจุบันดู ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคงความสนุกและแซ่บมากเลยทีเดียว

 

หนังเล่าเรื่องราวของ มนัส (แสดงโดย สมบัติ เมทะนี) ลูกชายผู้ไม่เอาถ่านของมหาเศรษฐีชาวจีนที่ร่ำรวยจากการขายยาปลูกผม ซึ่งพ่ออยากให้เขากลับตัว จึงเอาเงินมาล่อให้มนัสแต่งงานกับ “น้ำตาล” (แสดงโดย เมตตา รุ่งรัตน์) ลูกสาวของเพื่อนชาวอินเดียที่เป็นเจ้าของสูตรน้ำยาปลูกผม ปัญหาติดอยู่ที่มนัสมีผู้หญิงที่ติดพันด้วยอยู่แล้ว

 

เนื้อเรื่องอาจดูเชยและคลิเช่ แต่พอดูแล้วก็รู้สึกได้ถึงความล้ำและมาก่อนกาลของคุณรัตน์จริงๆ เพราะการนำขนบหนังตลาดในยุคนั้นมายำแล้วทำได้กลมกล่อมแบบนี้น่าจะทำได้ยากมาก รู้สึกสนุกกับการปะทะกันทางวัฒนธรรมที่คนจีนอยากให้ลูกแต่งงานกับคนอินเดีย ซึ่งไม่เคยเห็นในหนังไทยหรือในชีวิตจริงมาก่อน หรือความไม่เข้าใจและไม่พยายามเข้าใจผู้คนที่มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่าง เช่นที่มนัสพยายามกดน้ำตาลโดยเรียกเธอว่า “โรตี” แทนชื่อจริงของเธอ

 

นอกจากนั้นการปะทะคารม ชิงไหวชิงพริบของพระเอกนางเอกในเรื่องยังทำออกมาได้สนุกมาก เพราะผู้หญิงในหนังคุณรัตน์ส่วนใหญ่มีความล้ำ ฉลาด และแหวกขนบเกือบทุกคน เช่น วัชรี (แสดงโดย ปรียา รุ่งเรือง) สาวแซ่บแฟนมนัสที่เปรี้ยวและมั่นใจในตัวเองมาก รู้จักความต้องการของตัวเองดี และไม่กลัวที่จะทำในสิ่งที่ต้องการ ในขณะที่น้ำตาลเองก็เป็นสาวแกร่ง รู้ทันคน และรู้จักวิธีเดินหมากเพื่อจะทำให้มนัสเห็นคุณค่าของเธอ โดยไม่ต้องทำตัวน่าสงสารหรือน่าสมเพช

 

ฉากที่ประทับใจคงหนีไม่พ้นฉากที่ทั้งคู่แกล้งร้องไห้ ซึ่งตลกมากๆ และยังทำให้เห็นว่าทั้งคู่สมน้ำสมเนื้อกันจริงๆ หรือจะเป็นบทสนทนาแทงใจที่มนัสพร่ำบอกว่าเขาหัวใจสลาย เพราะแทบไม่เหลือใครแล้วในชีวิต แต่น้ำตาลก็สวนกลับไปด้วยการถามว่า คุณมีหัวใจด้วยเหรอ

 

เอาเข้าจริงก็ไม่แน่ใจว่าทั้งคู่รักกันจริงรึเปล่า เพราะดูเหมือนแต่ละฝ่ายอยากเอาชนะกันมากกว่า น้ำตาลเองก็มาแต่งงานโดยที่ไม่ได้รู้จักกับมนัสมาก่อน ส่วนมนัสก็เพิ่งหันมาสนใจน้ำตาลตอนที่ตัวเองตกต่ำ ซึ่งเขาอาจอยากให้เธอกลับมาในชีวิตเพียงเพราะต้องการทรัพย์สินของเธอก็ได้ แต่ความรักคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญตามขนบหนังไทยตลาดๆ เพราะไม่ว่าพระเอกนางเอกจะทะเลาะกัน เกลียดกันแค่กัน สุดท้ายแล้วก็ได้กันและมีลูกมาช่วยสงบศึกตามธรรมเนียม ซึ่งคุณรัตน์ก็เสียดสีขนบนี้โดยการให้ทั้งคู่มีลูกกันถึง 20 คน!

 

ด้วยความยาวถึง 2 ชั่วโมงอาจทำให้ผู้ชมยุคนี้รู้สึกว่า “น้ำตาลไม่หวาน” เวิ่นเว้อไปสักหน่อย เช่น ฉากที่มีการร้องเพลงฉลองแต่งงานที่เล่นยาวไป 3-4 เพลง หรือฉากที่ตัวละครเดินจากประตูบ้านเข้าบ้านใหญ่ ซึ่งปล่อยยาวพร้อมดนตรีประกอบติดหู แต่หลายฉากที่ถ่ายทำนอกสถานที่ก็ทำให้ตื่นตาทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นฉากที่ถ่ายบริเวณสวนสัตว์ดุสิต สนามหลวง ที่ทำให้ได้เห็นสภาพบ้านเมืองยุคนั้นเป็นภาพเคลื่อนไหว และยังได้สังเกตปฏิกิริยาของผู้คนเวลาเจอกองถ่ายอีกด้วย รวมถึงการนำน้ำอัดลมยี่ห้อหนึ่งมาขึ้นจอบ่อยมาก จนอดสงสัยไม่ได้ว่าเป็นการโฆษณาหรือคนยุคนั้นนิยมดื่มเครื่องดื่มนี้จริงๆ (แต่พอดูหนังจบแล้วก็อยากดื่มน้ำยี่ห้อนี้ขึ้นมาซะงั้น) และเพลงประกอบที่เป็นธีมหลักของเรื่องนั้นก็เพราะจริงๆ ฟังแล้วขนลุกเลยทีเดียว

 

สนามหลวง

 

รอบที่ไปดูเป็นการฉายแบบกลางแปลงหน้าพารากอน เพื่อปิดเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมี 2 พระนางมาร่วมชมด้วย การได้เห็นนักแสดงรุ่นเก่าในยุคนี้โลดแล่นบนโลกภาพยนตร์เมื่อ 50 ปีก่อนทำให้รู้สึกว้าวมากๆ เพราะพิสูจน์ได้ถึงความเป็นตัวจริงของนักแสดงแต่ละคนที่ยังคงมีผลงานออกมาจนถึงปัจจุบัน

 

โดยหนังของคุณรัตน์นั้นไม่ใช่ว่าใครก็มาแสดงได้ เพราะคุณรัตน์ต้องการสร้างมาตรฐานให้กับวงการภาพยนตร์ไทย จึงตัดสินใจทำหนังด้วยฟิล์ม 35 มิลลิเมตรที่มีราคาแพงแต่ให้ภาพและเสียงที่ดีกว่าฟิล์ม 16 มม. แถมยังมีการบันทึกเสียงในฟิล์ม ดังนั้นนักแสดงต้องมีเสียงที่มีคุณภาพและต้องฝึกซ้อมบทมาเป็นอย่างดีก่อนเข้าถ่ายทำแต่ละฉาก ต่างจากนักแสดงหนัง 16 มม. ที่ไม่มีการบันทึกเสียงลงฟิล์ม จึงไม่ต้องฝึกการใช้เสียงหรือจำบท เพราะมีคนคอยพูดบอกบทให้ตลอดระหว่างการถ่ายทำ ซึ่งสมบัติและเมตตาก็เล่นบทตัวเองได้ดีและมีเสน่ห์ และก็อดชื่นชมไม่ได้ว่านักแสดงยุคนั้นสวยหล่อกันจริงๆ โดยเฉพาะ ปรียา รุ่งเรือง ซึ่งบทเป็น วัชรี ที่เปิดตัวมาได้สวยและเซ็กซี่บาดใจจริงๆ (และถ้าสังเกตกันดีๆ คุณรัตน์ได้มาร่วมแสดงในหนังเรื่องนี้ด้วยในตอนเกือบท้ายเรื่อง)

 

และถ้าใครสนใจดูหนังคลาสสิก ในวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคมนี้จะมีการฉายหนังเรื่อง The Emerald Jungle (Maung Tin Maung, 2477), The Lion City (Yu Sui, 2503) และ Three Maidens (Usmar Ismail, 2499) ชมฟรีที่โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ที่ศาลายา นครปฐม ซึ่งแวะไปซื้อ DVD “น้ำตาลไม่หวาน” ได้ที่นั่นเช่นกันค่ะ 🙂 #โปรโมตเพราะชอบหนัง #ไม่ได้ค่าโฆษณาแต่อย่างใด

 

ตัวอย่างภาพยนตร์:


น้ำตาลไม่หวาน Sugar Is Not Sweet (2507) โดย SeeingMoleOldMovieSamples

 

แก้วตา
04.05.17