ธุดงควัตร (2016)
ธุดงควัตร (Wandering, 2559)
โดย บุญส่ง นาคภู่
ความยากไร้ ความโดดเดี่ยว และความรู้สึกผิด ที่หมุนวนเป็นวัฏจักรไม่จบสิ้นในใจชายวัยกลางคนจากแดนอีสานที่มาทำงานในจังหวัดชุมพร ยิ่งทุกข์ทวีด้วยฤทธิ์เหล้า จนทำให้ชีวิตเขาโซเซไร้ทิศทางไม่ต่างจากแต่ละก้าวที่ย่างเดิน แต่การได้พบกับพระป่ารูปหนึ่งก็ทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการออกบวช ซึ่งแน่นอนว่าเส้นทางแห่งธรรมสายนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
‘ธุดงควัตร’ เป็นผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่ 4 ของ บุญส่ง นาคภู่ ที่ยังคงตั้งใจถ่ายทอดวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมชนบทที่เห็นได้ไม่บ่อยนักบนจอเงิน โดยก่อนหน้านี้บุญส่งเลือกนำเสนอความทุกข์ของชาวบ้านซึ่งเกิดจากภาวะเศรษฐกิจและความไม่เท่าเทียมทางสังคมผ่าน ‘คนจนผู้ยิ่งใหญ่ (2553)’ ‘สถานี 4 ภาค (2555)’ และ ‘วังพิกุล (2556)’ ในขณะที่ผลงานล่าสุดได้ฉีกไปเล่าเรื่องราวของวงการสงฆ์แทน ซึ่งตัวผู้กำกับเองก็นำประสบการณ์ที่เคยบวชเรียนนาน 10 ปีมาถ่ายทอด
ที่ผ่านมาภาพยนตร์ไทยซึ่งนำเสนอภาพพระสงฆ์มักมีไม่หลากหลายนักคือถ้าไม่ตลกโปกฮา ก็ออกแนวมาเพื่อสั่งสอนอย่างโจ่งแจ้ง(เหมือนตอนจบของละครตบตีหลายเรื่อง) หรือไม่ก็เป็นสายดาร์กที่หมิ่นเหม่ต่อการโดนห้ามฉาย แต่ ‘ธุดงควัตร’ เลือกที่จะสะท้อนวิถีสงฆ์ที่น้อยคนจะได้สัมผัส ยิ่งเป็นพระสายปฏิบัติด้วยแล้วยิ่งแทบไม่ถูกพูดถึงในหนังไทย
แม้ว่าการดำเนินเรื่องช่วงแรกจะค่อนข้างดราม่าเพื่อให้เห็นความลำบากทุกข์ยากของตัวละครหลัก แต่เมื่อถึงช่วงเปลี่ยนผ่านที่ตัวละครกำลังเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ก็ทำให้ตื่นตาไม่น้อย เพราะผู้ชมจะได้เห็นขั้นตอนการบวชอย่างละเอียดตั้งแต่การฝึกท่องบทสวด การปลงผม การขานรับ-ปฏิเสธอันตรายิกธรรม (อุปสรรค 13 ประการในการบรรลุธรรม) ซึ่งมีหลายข้อน่าสนใจและทำให้เกิดคำถามขึ้นมาในหัว ไปจนถึงการห่มจีวร การบิณฑบาต การกินข้าวจากบาตร และการปฏิบัติธรรมสายธรรมยุตในสำนักสงฆ์กลางป่า
การที่ตัวละครหลักตัดสินใจหักดิบมาเป็นพระก็ทำให้ได้พิจารณาหลายอย่างถึงสังคมไทยในปัจจุบันที่คนจำนวนหนึ่งพึ่งพิงศาสนาเพียงเพื่อปลดทุกข์ของตัวเอง ทำตามความปรารถนาของคนรอบตัว ไม่ก็ทำเพื่ออุทิศให้ผู้จากไป หรือแสวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่น ไม่ได้มาจากความต้องการศึกษาแก่นแท้ของศาสนานั้นๆ อย่างแท้จริง หรือต้องการสืบทอดศาสนาให้คงอยู่ต่อไป แต่พระใหม่รูปนี้ก็พอโชคดีอยู่บ้างเพราะได้พระอาจารย์ที่ดีมาช่วยแนะนำคำสอนและหยอดคำคมเพื่อตักเตือนเป็นระยะๆ ทำให้ไม่รู้สึกยัดเยียดหรือหย่อนจนเกินไป
อย่างไรก็ตามการปลดเปลื้องพันธนาการชีวิตที่ฝังอยู่ในตัวมานานไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งพระใหม่ก็ต้องต่อสู้กับตัวเองอย่างหนักจนได้พบกับเส้นทางที่เหมาะสมกับตัวเอง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่พระรูปนี้ค้นพบจะเป็นอุปสรรคใหม่ในการปฏิบัติหรือไม่ เพราะแม้ลมที่โหมมากระทบใบหน้าอาจทำให้รู้สึกเหมือนความทุกข์ถูกปัดเป่า แต่แรงปะทะที่มากเกินไปก็อาจทำให้ไม่สามารถครองสติในการจับลมหายใจตัวเองได้ และอาจทำให้หลงมัวเมาไปกับความพึงพอใจที่ปรุงแต่งขึ้นมาเองว่าตนเองปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบแล้ว ทั้งที่ความจริงยังไม่ได้เรียนรู้แก่นแท้อะไรเลยก็ตาม
อีกประเด็นที่น่าถกคือบทบาทของผู้หญิงในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่แม้จะมีตัวละครหญิงไม่มากนัก แต่หลายคนก็ดูจะเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาความสุขที่ยั่งยืนในชีวิตของหนุ่มอีสานผู้นี้ ไม่ว่าจะเป็นอดีตภรรยาผู้ทอดทิ้งเขาไปอย่างไม่ใยดี คนขายของร้านชำที่หยิบยื่นน้ำเมาให้เขา(แม้จะจ่ายเงินไม่ครบ) อดีตเจ้านายที่ไล่เขาออกกลางคัน รวมถึงหญิงสาวที่เข้าหาเขาและคอยตั้งสารพัดคำถาม ซึ่งก็ไม่แน่ว่าเธอผู้นี้มีตัวตนอยู่จริงหรือเป็นเพียงจินตนาการของพระใหม่ แต่นี่ก็สามารถสะท้อนภาพผู้หญิงในพุทธศาสนาในประเทศไทยได้ไม่น้อยที่มักถูกกีดกันให้อยู่ขอบนอก เป็นได้เพียงแค่ผู้รับ หรือบางครั้งก็ถูกมองเป็นอุปสรรคต่อศาสนา ทั้งที่จริงแล้วมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่สนใจศึกษาหลักธรรมอย่างจริงจัง บางคนถึงกับบินไปต่างแดนเพื่อบวชเป็นภิกษุณีและกลับมาเผยแพร่ธรรมะ ณ วัดหรือสำนักสงฆ์ภิกษุณีต่างๆ ในหลายจังหวัด อย่างไรก็ตามภิกษุณียังคงไม่ได้รับการยอมรับในสายตาคนทั่วไปหรือแม้แต่วงการสงฆ์เองจากการตีความที่ต่างกัน รวมทั้งยังไม่สามารถบวชผู้หญิงเป็นภิกษุณีในไทยได้อีกด้วย
นอกจากนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ชวนคิด ‘ธุดงควัตร’ ยังถ่ายทอดออกมาได้อย่างเรียบง่ายและงดงาม โดยเฉพาะการถ่ายภาพฝีมือ อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ ผู้กำกับภาพยนตร์ไตรภาคข้าวอย่าง ‘เรื่องเล่าจากเมืองเหนือ’ ‘สวรรค์บ้านนา’ และ ‘เพลงของข้าว’ ซึ่งเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติได้เป็นอย่างดี และเว้นระยะจากตัวละครให้ผู้ชมได้คอยติดตามอยู่ห่างๆ โดยการทิ้งที่ว่างระหว่างคนดูกับตัวละครนี้เองที่ทำให้ผู้ชมต้องจดจ่อกับจอ เพื่อจะได้รู้และเข้าใจสิ่งที่เห็นตรงหน้า เพราะทุกอย่างไม่ได้อธิบายออกมาให้เห็นแจ่มแจ้ง แต่เป็นหน้าที่ของผู้ชมแต่ละคนที่ต้องคิดตามไป ไม่ต่างจากคำสอนทางพุทธศาสนาที่บอกให้ผู้คนมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ
‘ธุดงควัตร’ เข้าฉายตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. ติดตามรอบฉายได้ที่เพจ
แก้วตา
24.07.16