#กิน฿อยู่€คือ? (มีเต้นด้วย) (2016)

 

“รองเท้าจากคนที่ไม่แสดงออก
ประโยคแสนสั้นจากผู้ร่วมแสดงคนหนึ่งที่พูดถึงของรักฟังดูทั้งเศร้าและโรแมนติกในคราวเดียวยังคงติดอยู่ในหัวหลังจากที่ไปดูละครเวที “#กิน฿อยู่€คือ? (มีเต้นด้วย)” เมื่อไม่กี่วันก่อน ก็คงจริงที่แต่ละคนเลือกจำอะไรแตกต่างกัน ซึ่งผู้กำกับก็ให้สิทธิ์นั้นกับเราอย่างเต็มที่
“#กิน฿อยู่€คือ? (มีเต้นด้วย)” เป็นการแสดงที่ดัดแปลงมาจากบทละครฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า “Une (Micro) Histoire Économique du Monde, Dansée” หรือ “A (Micro) History of World Economics, Danced” ซึ่งดูชื่อแล้วก็อาจจะพอเดาได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกแน่ๆ ว่าแต่มีเต้นด้วยเนี่ยนะ


ถึงจะดูไม่ค่อยเข้ากัน แต่ผู้กำกับและนักเขียนบทมือทอง “ปาสกาล รองแบรต์ (Pascal Rambert)” ก็นำเสนอมาได้อย่างคมคายและน่าสนใจ โดยใช้นักแสดงนำ 4 คน ผู้บรรยายประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ 1 คน และผู้ร่วมแสดงที่เป็นคนทั่วไปอีก 57 คนมาอยู่ร่วมกันในพื้นที่สี่เหลี่ยมของโรงละคร แถมยังต้องร้องเพลงและเคลื่อนไหวประกอบจังหวะ(=เต้น) อีกด้วย ซึ่งคนส่วนใหญ่คงไม่ค่อยได้ใส่ใจฟังสิ่งที่นักปรัชญาเศรษฐศาสตร์พูดนัก เพราะเป็นเรื่องวิชาการที่ดูจะไกลตัวเราเสียเหลือเกิน ตาและหูจึงเบนไปใส่ใจคนอื่นๆ ที่ดูเหมือนกำลังดำเนินชีวิตของตัวเองไปอย่างมีอิสระ แต่บางครั้งก็ดูเหมือนพวกเขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


แม้ว่าเราจะชอบ “เลิก! (Clôture de l’amour)” งานเก่าของปาสกาลที่เคยมาแสดงที่ไทยเมื่อ 2 ปีที่แล้วมากกว่าในแง่ของบทที่ทิ่มแทงและการเข้าถึงอารมณ์ที่ซับซ้อนของมนุษย์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “#กิน฿อยู่€คือ?” เป็นงานที่เปี่ยมเสน่ห์ทั้งบทที่สะท้อนเรื่องของประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ ศิลปะ บทกวี ตัวตนและหน้าที่ของศิลปิน นอกจากนั้นยังบริหารจัดการตัวละครและพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจ เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมแสดงทุกคนซึ่งมีความหลากหลายได้ร่วมส่งเสียงในการแสดงนี้ จึงมั่นใจได้ว่าผู้ชมในรอบคืนวันที่ 23 – 25 มิถุนายน ที่ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล ได้รับประสบการณ์และมุมมองที่แตกต่างกันออกไปอย่างแน่นอน และไม่ว่าการแสดงนี้จะเดินทางไปประเทศไหน เสน่ห์ของเรื่องก็จะเปลี่ยนไปตามผู้ร่วมแสดงท้องถิ่น


โชคดีที่รอบที่เราดูมีการพูดคุยกับผู้กำกับหลังการแสดงจบ ซึ่งมีคนดูบอกว่าไม่ได้สนใจตัวละครที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์เลย เพราะสนใจคนรอบข้างมากกว่า ปาสกาลซึ่งเขียนบทการแสดงนี้หลังจากพูดคุยกับอาจารย์ด้านปรัชญาเศรษฐศาสตร์เพื่อหาคำตอบเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป ก็ได้ตอบไปว่า การแสดงเขามีความเป็นการเมือง เป็นประชาธิปไตย เพราะผู้ชมมีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะดู จะฟัง หรือจำอะไร เขาในฐานะศิลปินไม่สามารถบังคับได้อยู่แล้ว โดยปาสกาลเองก็เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมแสดงเองได้ออกเสียงสะท้อนเรื่องราวของตัวเองอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็พบได้ไม่บ่อยนักในแวดวงการแสดงเองหรือแม้แต่ในชีวิตจริงของบางประเทศ 

 

“รองเท้าจากคนที่ไม่แสดงออก”

 

แก้วตา
29.06.16