Us (Jordan Peele, 2019)

(Claudette Barius / Universal Pictures)

หลังจากที่ Jordan Peele ได้พิสูจน์​ฝีมือการเขียนบทและกำกับไว้ในหนังเรื่องแรก ‘Get Out (2017)’ ที่นำเสนอการเหยียดเชื้อชาติในอเมริกาได้อย่างเฉียบคม ในปีนี้เขาได้ส่งหนังเรื่องใหม่ ‘Us (2019)’ มาสั่นประสาทผู้ชมอีกครั้ง โดยหนังทริลเลอร์เรื่องล่าสุดสอดแทรกหลากหลายประเด็นให้ตีความ และตั้งคำถามแบบเจาะลึกถึงเนื้อแท้ของความเป็นอเมริกา ไม่ต่างจากชื่อเรื่อง (US = United States)

เรื่องราวใน ‘Us’ ผูกโยงกับโครงการ ‘Hands Across America’ ในปี 1986 ที่หวังระดมทุนเพื่อผู้ยากไร้และคนไร้บ้านผ่านการบริจาค และให้ประชาชนแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการยืนจับมือเรียงกันทั่วประเทศ แต่แคมเปญนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จดังที่ผู้จัดตั้งใจ เพราะเงินบริจาคเกือบครึ่งถูกหักไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ จนทำให้ชื่อของโครงการนี้แทบจะถูกลบเลือนจากความทรงจำของผู้คนในยุคปัจจุบัน

สาวน้อย ‘Adelaide (แอดิเลด)’ นั่งดูมิวสิกวิดีโอโฆษณาโครงการนี้ ก่อนที่ครอบครัวจะพาเธอไปฉลองวันเกิดที่สวนสนุกริมชายหาดซานตาครูซ รัฐแคลิฟอร์เนีย และชีวิตของเธอก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปนับจากวันนั้น เมื่อเธอได้พบกับ ‘เงา’ ของตัวเอง

ผ่านไป 30 กว่าปี Adelaide (รับบทโดย Lupita Nyong’o) ดูเหมือนจะมีชีวิตที่มีความสุข เธอได้ใช้ชีวิตกับสามีที่รัก มีลูกสาวและลูกชายที่น่ารัก มีเงินทองพอที่จะซื้อของฟุ่มเฟือยได้ไม่ต่างจากผู้มีอันจะกินคนอื่น แต่เธอก็รู้สึกได้ว่า ‘เงามืด’ กำลังคืบคลานเข้ามาในชีวิตอีกครั้ง เมื่อเธอต้องกลับไปยังชายหาดแห่งนั้น ซึ่งฝันร้ายก็กลายเป็นจริง เมื่อเธอได้พบคนแปลกหน้าสี่คนมายืนจับมือเรียงกันอยู่หน้าบ้าน โดยทั้งหมดใส่ชุดจั๊มสูทสีแดง รองเท้าแตะแบบถัก มีอาวุธเป็นกรรไกรสีทอง และที่ชวนสยองไปกว่านั้นคือเหล่าคนแปลกหน้านั้นหน้าตาเหมือนครอบครัวตระกูล Wilson (วิลสัน) อย่างไม่ผิดเพี้ยน

“We are Americans. (เราคืออเมริกา)” เป็นสิ่งที่ ‘Red (เรด)’ คู่เหมือนของ Adelaide ตอบเมื่อถูกถามว่าเป็นใครผ่านเสียงที่พร่าเลือน ในขณะที่อีกสามคนไม่สามารถสื่อสารภาษามนุษย์ได้เลย และก็คงไม่ผิดเพี้ยนจากสิ่งที่เธอตอบ เพราะเธอคือภาพแทนของผู้ถูกกดขี่และไม่ได้รับโอกาสในสังคมอเมริกา

#มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์

‘Tether’ คือชื่อเรียกมนุษย์เงาเหล่านั้น ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่าเป็นเชือกหรือสายรัดที่เอาไว้พ่วงโยง หรือล่ามอีกสิ่ง ฟังดูแล้วก็ไม่ต่างจากเงาที่มักจะติดตามเจ้าของอยู่ตลอดเวลา โดยหนังได้เปิดเผยว่า รัฐบาลได้สร้าง Tethers ขึ้นมาเพื่อใช้ในโครงการลับใต้ดิน เพื่อหวังควบคุมมนุษย์บนดิน แต่โครงการล้มเหลว เลยปล่อยให้เหล่า Tethers แพร่พันธุ์กันเอง ลอกเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์บนดินต่อไป โดยมีกระต่ายเป็นแหล่งอาหาร

แม้ว่า Tethers จะเป็นผู้คนที่ถูกลืมและลบเลือนโดยสังคม ภาครัฐ รวมถึงผู้มีอำนาจ แต่ว่ามนุษย์เงาที่ไร้ปากเสียงและดูไร้ความรู้สึกเหล่านี้กลับมีชื่อเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นชื่อที่แตกต่างจากมนุษย์ต้นแบบ ทำให้เห็นว่าแท้จริงแล้วพวกเขาต่างก็มี ‘ตัวตน’ เช่นกัน และหากได้รับโอกาสขึ้นไปข้างบน พวกเขาก็สามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างแนบเนียน

‘Us’ สะท้อนให้เห็นความจริงอันโหดร้ายที่ว่า ‘มนุษย์เงา’ ไม่เคยได้รับโอกาสนั้น และมีแต่คนบนดินเท่านั้นที่มีสิทธิ์เหนือชีวิตของพวกเขา ซึ่งมนุษย์เบื้องบนนั้นก็ไม่เคยรับรู้หรือสนใจเลยว่า ทุกการตัดสินใจของพวกเขาล้วนมีผลต่อมนุษย์เงา ความเจ็บปวดที่ไม่สามารถเลือกสิ่งใดให้กับตัวเองได้เลยแสดงออกชัดเจนผ่านคำพูดของ Red ที่ต้องกล้ำกลืนกินกระต่ายดิบแทนอาหารเลิศรส และต้องถูกคนแปลกหน้าข่มขืนแทนที่จะได้อยู่กับคนรัก

การแก้แค้นของ Red และเหล่ามนุษย์ในจั๊มสูทสีแดงจึงคล้ายกับเป็นการเรียกร้องสิทธิที่ปัจเจกชนพึงมี โดยเฉพาะในยุคหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี และมีการออกกฎหมายที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนชั้นสอง รวมถึงการวางแผนสร้างกำแพงที่ชายแดนอเมริกา-เม็กซิโก เพื่อกันไม่ให้ชาวเม็กซิโกลักลอบเข้ามาในอเมริกาอีก ซึ่งภาพในตอนจบของหนังที่มีมนุษย์เงาในชุดจั๊มสูทสีแดงยืนจับมือเรียงรายกันไปทั่วประเทศ นอกจากจะเป็นการเสียดสีภาพในอุดมคติที่แคมเปญ Hands Across America หวังให้ชาวอเมริกันสามัคคีทำดีเพื่อผู้ด้อยโอกาสแล้ว ยังชวนให้เสียวสันหลัง เพราะกำแพงของมนุษย์เงาที่สามัคคีกันเหล่านี้เกิดขึ้นจากความตายของหลายคนที่ไม่รู้ว่าต้องแลกชีวิตไปเพื่ออะไร หรือเรื่องที่เกิดขึ้นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือไม่ หรือหากสลับที่กัน ให้มนุษย์เงาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แล้วมนุษย์บนดินเป็นฝ่ายประสานมือ เราจะยังรู้สึกเช่นนี้หรือไม่

การแก้แค้นของ Red และเหล่ามนุษย์ในจั๊มสูทสีแดงจึงคล้ายกับเป็นการเรียกร้องสิทธิที่ปัจเจกชนพึงมี โดยเฉพาะในยุคหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี และมีการออกกฎที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนชั้นสอง รวมถึงการวางแผนสร้างกำแพงที่ชายแดนอเมริกา-เม็กซิโก เพื่อกันไม่ให้ชาวเม็กซิโกลักลอบเข้ามาในอเมริกาอีก ซึ่งภาพในตอนจบของหนังที่มีมนุษย์เงาในชุดจั๊มสูทสีแดงยืนจับมือเรียงรายกันไปทั่วประเทศ นอกจากจะเป็นการเสียดสีภาพในอุดมคติที่แคมเปญ Hands Across America หวังให้ชาวอเมริกันสามัคคีทำดีเพื่อผู้ด้อยโอกาสแล้ว ยังชวนให้เสียวสันหลัง เพราะกำแพงของเหล่ามนุษย์เงานี้เกิดขึ้นจากความตายของหลายคนที่ไม่รู้ว่าต้องแลกชีวิตไปเพื่ออะไร หรือจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศได้จริงหรือไม่

การเลือกให้มนุษย์เงาใส่จั๊มสูทสีแดงในวันเผด็จศึกยิ่งชวนให้นึกถึงสีของพรรค Republican ที่ทรัมป์สังกัด รวมไปถึงอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ที่ตอนดำรงตำแหน่งสมัยที่สองได้เข้าร่วมแคมเปญ Hands Across America แม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่านโยบายของเขานั่นแหละที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจขยายวงกว้าง จนทำให้เกิดปัญหาคนไร้บ้านมากมาย โดยที่จริงแล้ว ปัญหาการมองคนไม่เท่ากัน ให้โอกาสคนอย่างไม่เท่าเทียมนั้นก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมันเกิดขึ้นนับจากวันแรกที่สร้างดินแดนแห่งนี้เมื่อหลายศตวรรษก่อนหน้าแล้ว

การหลงลืมความผิดพลาดในอดีต ความพยายามลบเลือนตัวตน และปฏิเสธบาดแผลของตัวเอง ส่งผลให้เกิดปัญหาเดิม ๆ หมักหมมซุกซ่อนไว้ใต้พรม หากจะคอยแต่โทษคนอื่น มองสิ่งอื่นว่าเลวร้ายและทำให้เรื่องไม่ดีขึ้นกับชีวิต โดยไม่หันกลับมาดูตัวเองเลยว่ามีส่วนร่วมในกระบวนการนั้นหรือไม่ ลองไตร่ตรองดูว่าการตัดสินใจและการกระทำของเราส่งผลเสียต่อผู้อื่นหรือเปล่า ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าสักวันหนึ่ง มนุษย์ผู้ไร้สิทธิ์ไร้เสียงเหล่านั้นจะล้มหายตายจากไปหมด หรือพระเจ้าจะมอบโอกาสให้พวกเขาเหล่านั้นได้ขึ้นบันไดมายังโลกเบื้องบนเสียที

โดยสรุปแล้ว ‘Us’ เป็นหนังสยองขวัญ/ทริลเลอร์ที่สะกดสายตาและชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ไม่ทรมานจนเกินไปด้วยมุกตลกให้ผ่อนคลาย รวมถึงการแสดงที่ดีงามมาก ๆ ของ Lupita Nyong’o ที่สร้างตัวละครทั้งสองออกมาได้แตกต่างกันอย่างชัดเจน และแอบซ่อนความรู้สึกหลายชั้นไว้อยู่ข้างใน ถึงแม้บทในบางช่วงจะชวนสงสัยถึงตรรกะและที่มา แต่การเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิงทั้งทางภาพและเสียง (เพลง ‘I Got 5 on It’ นี่หลอนมาก) ซึ่งผ่านการคิดและออกแบบมาเป็นอย่างดี ก็พอทำให้เบนความสนใจไปได้บ้าง ถึงแม้ดูหนังจบแล้ว แต่ยังคงคิดวิเคราะห์ต่อยอดจากหนังได้ไม่จบไม่สิ้น เพราะมันตีความได้หลากหลายมากมายจริง ๆ จากสัญญะในเรื่องที่สอดแทรกไว้เป็น Easter Eggs ชวนให้อ่านบทความเพิ่มเติมความรู้อีกหลายด้าน ทั้งเชิงศาสนา ประวัติศาสตร์ การเมือง ไปจนถึงปรัชญา