The Wife (2017)

 

The Wife

 

บ่อยครั้งที่คนในสังคมมักกำหนดความเป็น ‘ผู้หญิง’ ผ่านบทบาท ‘ลูก’ ‘เมีย’ และ ‘แม่’ จนมองข้ามทักษะ ความสามารถ หรือตัวตนที่แท้จริงของพวกเธอไป แง่มุมเหล่านี้ได้ถูกนำมาตีแผ่ใน ‘The Wife’ ภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเรื่องแรกของผู้กำกับสวีเดน Björn Runge

 

‘The Wife’ สร้างจากนิยายของนักเขียนอเมริกัน Meg Wolitzer นำเสนอชีวิตคู่ของสามี-ภรรยาตระกูล Castleman หลังแต่งงานมาเกือบ 40 ปี โดย ‘โจ (แสดงโดย Jonathan Pryce)​’ เป็นนักเขียนชื่อดัง ขณะที่ ‘โจน (แสดงโดย Glenn Close)’ ก็รับบทบาทเป็นศรีภรรยาและแม่ที่ดี ผู้คอยให้กำลังใจและสนับสนุนคนในครอบครัวมาตลอดเวลา แต่ภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูสวยงามเหล่านั้นกำลังถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง ทันทีที่มีโทรศัพท์ต่อสายมาแจ้งว่า ‘โจ’ คว้ารางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมได้สำเร็จในปีนี้

 

โครงเรื่องของ ‘The Wife’ อาจคาดเดาได้ไม่ยาก จากการเป็นภาพยนตร์ดราม่าที่ตีแผ่ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องเรียบง่ายที่หลายครอบครัวอาจเคยประสบมา แต่สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้โดดเด่นอย่างมากคือการห้ำหั่นทางอารมณ์อย่างหนักหน่วงของตัวละครในเรื่องผ่านการแสดง บทสนทนาอันเข้มข้น ไปจนถึงการสื่อความหมายด้วยภาพ เช่นฉากที่ ‘โจ’ ขึ้นรับรางวัลโนเบลที่เห็นภาพผู้ชายทุกคนบนเวทีอย่างคมชัด ตัดภาพมาที่ ‘โจน’ ซึ่งกำลังนั่งดูอยู่ข้างล่าง กล้องกลับแทบโฟกัสหาเธอไม่เจอ คล้ายกับว่าเธอไม่มีตัวตนอยู่ตรงนั้นตั้งแต่แรก

 

การเล่าเรื่องสลับอดีตกับปัจจุบันค่อย ๆ คลี่คลายสาเหตุที่ตัวละครรู้สึกและแสดงออกมา ซึ่งนักแสดงนำทั้งหมดสามารถถ่ายทอดความซับซ้อนทางอารมณ์ออกมาได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะ Glenn Close ที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเอะใจว่าเธอมีเรื่องราวอะไรเก็บงำซ่อนไว้อยู่ภายใต้รอยยิ้มแสนหวานที่เธอมอบให้สามี ซึ่งคลื่นใต้น้ำเหล่านี้ค่อย ๆ เผยตัวออกมา เมื่อเธอต้องเดินทางไปร่วมพิธีมอบรางวัลโนเบลให้กับ ‘โจ’ ที่สวีเดน โดยมีตัวเร่งเป็นคำพูดของสามีที่พยายามกดเธอให้จม รวมถึงการถูกคนอื่นมองว่าไร้ความสามารถ และสนใจเพียงแต่เรื่องฉาบฉวยตามขนบความเป็น ‘หญิง’ และความเป็น ‘เมีย’ เท่านั้น

 

“I’m a kingmaker.” คือประโยคอันทรงพลังของ ‘โจน’ ที่นอกจากจะแสดงการหมดความอดทนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงพลังของเธอที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ ‘โจ’ อย่างแท้จริง ซึ่งเธอไม่ได้เป็นเพียงศรีภรรยาที่คอยแต่ทำกับข้าว เลี้ยงลูก และให้กำลังใจสามีเท่านั้น แต่เธอเป็นคนที่ทำให้เขาได้รางวัลโนเบลนี้มา

 

 

เมื่อดูภาพยนตร์เรื่องนี้จบแล้ว หลายคนอาจเกิดคำถามขึ้นว่า ทั้งคู่รักกันจริงหรือไม่ หรือที่ผ่านมานั้นแค่หลอกใช้อีกฝ่าย ซึ่งคำพูดที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีคงหนีไม่พ้นประโยคที่ ‘โจน’ ตอบกับ ‘นาธาเนียล โบน (แสดงโดย Christian Slater)​’ นักเขียนที่พยายามสืบเรื่องฉาวมาแฉในหนังสือชีวประวัติของ ‘โจ’ ที่ว่า “Please don’t paint me as a victim. I’m much more interesting than that.” ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ‘โจน’ ไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นเหยื่อของขนบสังคมหรือเพศชายเลย

 

หากจะมองแบบโลกสวย การแต่งงานต้องเกิดจากความรัก ความเข้าใจ ความเสียสละของทั้งสองฝ่าย แต่หากจะมองอีกมุมก็อาจคิดได้เช่นกันว่า การแต่งงานถือเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ต่างจากการทำธุรกิจการค้าใด ๆ และในเมื่อ ‘โจน’ มีฝีมือการเขียนที่โดดเด่น แต่สังคมในยุค 50s ยังไม่ยอมรับนักเขียนผู้หญิง แล้วทำไมเธอจะยอมแลก ‘ตัวตน’ ของเธอ เพื่อให้งานเขียนได้รับการตีพิมพ์และมีคนอ่านไม่ได้ และทำไม ‘โจ’ จะยอมแลก ‘อัตตา’ ของตัวเองกับการ ‘ได้หน้า’ ในวงสังคมไม่ได้ ทั้งสองฝ่ายต่างได้ประโยชน์และยอมรับในข้อตกลงนี้ร่วมกัน

 

เช่นเดียวกับการยอมรับที่จะตกอยู่ในความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียดของทั้งคู่ ที่ ‘โจ’ รู้สึกแย่ที่ภรรยาเขียนงานหาเลี้ยงครอบครัวได้ ทำลายขนบเดิมที่สามีควรหาเลี้ยงครอบครัว จนเขาไปมีชู้ ซึ่งนี่เป็นหนทางเดียวที่เขาจะแสดง ‘พลัง’ ความเป็นชายและความเป็นผู้นำได้อีกครั้ง ในขณะที่ ‘โจน’ ก็รับรู้เรื่องราวทั้งหมด แต่ก็ไม่ยอมหย่ากับเขา แต่กลับนำความรู้สึกทั้งหมดมาถ่ายทอดเป็นวรรณกรรมชั้นดี เพราะนี่เป็นเพียงช่องทางเดียวที่เธอจะแสดง ‘พลัง’ ความสามารถของเธอออกจากขนบได้ แม้ว่ายังต้องอาศัยชื่อสามีบังหน้าก็ตาม ซึ่งในฐานะ ‘เมีย’ โจนยอมโอนอ่อนเพื่อสมยอมภายใต้อำนาจของสามีเมื่ออยู่ในบ้าน ซึ่งเห็นได้ชัดในฉากเปิดเรื่อง

 

‘The Wife’ ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นบทบาทของ ‘ภรรยา’ ที่ดีตามขนบ แต่ยังทำให้เห็นถึงการโต้กลับเชิงอำนาจของผู้หญิงที่รู้จักใช้ความสามารถ และความรัก มาหลอมรวมกันให้เกิดพลังและนำไปใช้ต่อรองอำนาจในอีกรูปแบบ จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมที่พวกเธอจะได้เปิดเผยความสามารถที่แท้จริงให้โลกรู้