The Chanchila ภพหน้ายังมาไม่ถึง (2017)

The Chanchila

 


The Chanchila ภพหน้ายังมาไม่ถึง (2017)
เขียนบทและกำกับโดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

 

สำหรับแวดวงละครเวทีก็เปิดประเดิมปี 2017 ด้วย “The Chanchila ภพหน้ายังมาไม่ถึง” ละครแนวดาร์กที่ตั้งคำถามถึงการตัดสินใจในชีวิตมนุษย์ผ่านตัวละครที่ชื่อว่า วิชิต ซึ่งเสียชีวิตด้วยเหตุไม่คาดฝัน และเบื้องบนไม่รู้จะส่งเขาไปที่ไหน เขาจึงต้องมาติดอยู่ที่ “Chanchila” ชานชาลารอรถไฟที่จะพาเดินทางไปนรกหรือสวรรค์ เพราะตอนที่ยังมีลมหายใจ วิชิตไม่เคยตัดสินใจทำอะไรด้วยตนเองเลยสักเรื่อง ไม่ว่าจะดีหรือเลว ภูตสวรรค์นาม เลกาโร่ จึงต้องมาช่วยทบทวนทุกเรื่องราวในอดีต

 

ตลอด 2 ชั่วโมงของเรื่อง ผู้ชมจะได้เห็นว่าวิชิตปล่อยชีวิตตนเองให้เป็นไปตามสิ่งที่คนอื่นหรือสังคมมองว่าดีและควรทำ จนไม่มีความคิดเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกคณะเรียน เลือกทำกิจกรรมระหว่างเรียน เลือกงาน เลือกคู่ครอง ไปจนถึงการมีลูก ชีวิตเขาดูไร้แก่นสาร ไร้ความฝัน เฉยชากับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ซึ่งอาจดูเป็นเรื่องปกติ เพราะลำพังชีวิตตัวเองก็ยังไม่สนใจจะทำสิ่งที่ต้องการจริงๆ

 

การต้องทนดูความขี้แพ้ของวิชิตตลอดทั้งเรื่องช่างทรมานและน่ารำคาญ จนไม่รู้สึกอยากเอาใจช่วยตัวละครตัวนี้แม้แต่น้อย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นมีคนอย่างเขาเป็นจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร ไม่ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ไม่ทำในสิ่งที่แหวกขนบหรือต่างไปจากความคาดหวังของสังคม ไม่กล้าลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ตนเองเชื่อ และไม่กล้าแม้แต่จะกำหนดโชคชะตาของตนเอง จนชวนให้ขบคิดถึงเจตจำนงเสรี (Free will) ซึ่งสะท้อนถามว่ามนุษย์แต่ละคนมีทางเลือกที่เป็นอิสระจริงหรือไม่ และหากการตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไรในชีวิตไม่ได้มาจากเจตจำนงที่แท้จริงก็ไม่ถือว่าผิดหรือถูกได้จริงหรือ

 

ด้วยเนื้อเรื่องที่ไม่มีอะไรใหม่และเดาทิศทางได้ทั้งเรื่อง สิ่งที่ดีที่สุดของละครเรื่องนี้อยู่ที่ตอนจบ เพราะนอกจากจะสิ้นสุดการรอคอยอันยาวนานแล้ว การตัดสินใจครั้งสุดท้ายของตัวละครที่จะเอาตัวเองออกนอกขนบก็เป็นเรื่องที่น่าประทับใจ

 

The Chanchila
วิชิต และ เลกาโร่

 

การสะท้อนปัญหาสังคมผ่านละครเรื่องนี้ก็เป็นไปตามธงที่ผู้กำกับตั้งใจไว้ ซึ่งอาจดูไม่ค่อยมีชั้นเชิงในการนำเสนอเท่าไรนัก แต่การสื่อสารโต้งๆ แบบนี้ก็น่าจะช่วยให้คนทั่วไปตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวมากขึ้น โดยถ้าเทียบกับผลงานชิ้นก่อนของผู้กำกับเรื่อง “Crossing Nirvana” แล้ว ผลงานชิ้นเปิดตัวดูจะสนุกและท้าทายกว่าด้วยการนำตัวละคร Shylock จาก “The Merchant of Venice” และการหายตัวไปของเจ้าพ่อแชร์ เอกยุทธ อัญชันบุตร มาสะท้อนประเด็นอำนาจเชิงโครงสร้างของสังคม

 

ด้านนักแสดงนำ 2 คนที่ต้องแบกละคร 2 ชั่วโมงไว้ก็สามารถประคองเรื่องได้จนจบ แต่ในรอบที่ไปดูนั้นเห็นได้ชัดว่าไม่มีสมาธิเท่าที่ควร จึงทำให้พูดผิดหลายตอน และสะดุดในตอนที่ไม่ควรพลาด นอกจากนั้นนักแสดงที่มารับบทเป็น ฐา ในช่วงอายุที่แตกต่างกันก็ทำให้งงทีเดียว เพราะคนที่เล่นตอนเป็นวัยรุ่นนั้นตัวสูงใหญ่ ในขณะที่ตอนโตกลับตัวเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด จึงไม่แน่ใจว่าเป็นตัวละครเดียวกันในตอนแรก แต่ทั้งคู่ก็สวมบทบาทได้อย่างน่าชม โดยคนที่เล่นได้ดีมากคือ กะปอม-วรรัตน์ ที่มารับบท น้ำ ตอนโต ซึ่งทำให้สงสัยว่าตกลงแล้วน้ำเป็นคนอย่างไรกันแน่

 

The Chanchila” อาจไม่ใช่ละครที่สมบูรณ์ แต่เนื้อหาที่สะท้อนมาก็น่าจดจำในฐานะบทบันทึกประวัติศาสตร์สังคมไทยปัจจุบัน นอกจากนั้นยังเห็นได้ชัดว่าทีมงานตั้งใจและพยายามให้เรื่องราวเหล่านี้ส่งต่อไปยังผู้คนในวงกว้าง และอยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม จึงได้เห็นภาพที่น่าประทับใจหลายภาพทางเพจ Monkey Army Theatre ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ใช้รถเข็นได้เข้าชม(ขอชื่นชมสถานที่แสดง Syrup The Space ที่จัดพื้นที่ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างแท้จริง) ผู้มีปัญหาทางการมองเห็น เยาวชนจากศูนย์ฝึกอบรม กลุ่มประชาสังคม/NGO และยังมีจัดเสวนาในประเด็นที่น่าสนใจต่างๆ เพื่อต่อยอดหลังละครจบอีกด้วย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและอยากให้กำลังใจทีมงานต่อไป