No (Pablo Larraín, 2012)

 

No (Pablo Larraín, 2012)
เมื่อการโหวต ‘No’ คืนความสุขให้ชาวชิลี

อีกเพียงวันเดียวเท่านั้นก็จะถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศที่คนไทยต้องลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ช่วงที่ผ่านมาก็ได้เห็นการเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนทางการเมืองจากหลายฝ่าย รวมถึงผลลัพธ์จากการแสดงความคิดเห็นเหล่านั้น จนชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ชิลีปี 2012 เรื่อง ‘No’ ที่ผู้กำกับมือรางวัล ‘อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล’ คัดเลือกมาให้ชมในเทศกาลภาพยนตร์คัดสรร Cinema Diverse: Director’s Choice 2015 เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

‘No’ กำกับโดย ‘พาโบล ลาร์เรน (Pablo Larraín)’ สะท้อนประวัติศาสตร์ของประเทศชิลีช่วงที่นายพล ‘เอากุสโต ปีโนเชต์ (Augusto Pinochet)’ ผู้นำเผด็จการทหารซึ่งปกครองประเทศมานาน 15 ปี ก่อนจะทนแรงกดดันจากนานาชาติไม่ไหว จึงจัดให้มีการลงประชามติในปี 1988 ให้ประชาชนโหวต ‘รับ’ หรือ ‘ไม่รับ’ การเรืองอำนาจต่อไปอีก 8 ปีของปีโนเชต์ โดยนักโฆษณามือทอง ‘เรเน่ ซาเวดรา (René Saavedra)’ (แสดงโดย Gael García Bernal) ได้ตกลงมาร่วมวางแผนทำสื่อรณรงค์การโหวต ‘โน’ ให้กับฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่าเส้นทางสายนี้ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

คลิปรณรงค์ความยาว 15 นาทีที่แต่ละฝ่ายนำมาฉายประชันแนวคิดกันบนจอโทรทัศน์ติดต่อกันเป็นเวลา 27 คืนคือลานประลองสำคัญ โดยฝ่ายหนุนโหวต ‘เยส’ ส่วนใหญ่เป็นภาครัฐ ซึ่งคลิปที่ทำนอกจากจะสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีต ยังตอกย้ำภาพผู้นำวีรบุรุษของปีโนเชต์ และนำเสนอในเชิงวิชาการที่เน้นข้อมูลเป็นหลัก

 

( คลิปเชิดชูปีโนเชต์ “Iorana, Presidente” )

ในขณะที่ฝ่ายหนุนโหวต ‘โน’ มีสมาชิกจากหลากหลายวงการจึงใช้สัญลักษณ์เป็นสายรุ้ง ซึ่งการที่มีคนในแวดวงศิลปะเข้าร่วมเป็นจำนวนมากได้ทำให้เกิดโฆษณาที่สร้างสรรค์และมีลูกเล่นแพรวพราว ถึงแม้ว่าจะถูกวิจารณ์ว่าดูโลกสวยเกินไป แต่ก็สื่อสารกับคนทั่วไปได้ง่ายผ่านการย่อยข้อมูลต่างๆ และยังนำเรื่องใกล้ตัวที่ผู้คนมีอารมณ์ร่วมได้ไม่ยากมานำเสนอ เช่น การไปสัมภาษณ์กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการกวาดล้างภายใต้รัฐบาลปีโนเชต์ ซึ่งตลอด 15 ปีที่ผ่านมานั้น มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 3,000 ราย รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นว่าทุกคะแนนเสียงสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ และจะช่วยหนุนให้มีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยในปีถัดไป โดยหนึ่งในผลงานเด่นของฝ่ายนี้ก็คือเพลงฮิตติดหูอย่าง “Chile, la alegría ya viene (ชิลี ความสุขใกล้จะมาเยือน)” ที่ในสปอตมีคนดังมาร่วมสนับสนุนมากมาย

 

( คลิป Chile, la alegría ya viene )

ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นชัดถึงพลังของสื่อบันเทิงและสื่อโฆษณาที่สามารถใช้สื่อสารและโน้มน้าวจิตใจผู้คนได้เป็นอย่างดี หากรู้จักใช้ในทางสร้างสรรค์ จนสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับผู้มีอำนาจและประเทศชาติได้เช่นกัน ซึ่ง ‘No’ นำเสนอบทสรุปได้อย่างสวยงามว่าแม้ผู้คนจะคิดต่าง แต่สุดท้ายแล้วเราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ หากรู้จักแยกแยะและยอมรับในความแตกต่าง

(***มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์***)
อภิชาติพงศ์ กล่าวในงานเสวนาได้อย่างน่าสนใจว่า หลังจากที่ชาวชิลีร่วมใจกันโหวต ‘No’ แล้ว บรรยากาศการเมืองหลังจากนั้นก็ไม่ได้ฟีลกู้ดเหมือนในหนัง เพราะก็ยังคงมีการแบ่งแยกกัน และยังมีคนสนับสนุนทหารอยู่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ก็อาจเป็นโฆษณาชวนเชื่อของคนทำหนังเองก็ได้ โดยอาศัยเทคนิคการใช้กล้องแฮนด์เฮลที่ทำให้ดูเหมือนการถ่ายทำหนังสารคดี ซึ่งทำให้คนดูเคลิ้มไปว่านี่คือเรื่องจริง ผสมกับการตัดต่อสลับกับฟุตเทจจริงในยุคนั้น และใช้เฟรมขนาด 4:3 แทนที่ 16:9 อย่างปัจจุบัน

“ประชาธิปไตยมันคือการมีส่วนร่วม ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย การได้โหวต อย่างที่เขาพูดในหนังว่า ขอให้ฉันโหวต ถึงแม้ว่าฉันจะแพ้ ปีโนเชต์ได้อยู่ต่อ แต่ฉันก็มีส่วนร่วม นั่นคือประเด็นที่สำคัญ” อภิชาติพงศ์ กล่าว

( ชมคลิปการพูดคุยกับอภิชาติพงศ์ที่งาน Cinema Diverse: Director’s Choice 2015 ได้ที่ https://goo.gl/iwJVq3 )

สำหรับการลงประชามติที่ไทยในวันพรุ่งนี้ ไม่รู้เหมือนกันว่าจะส่งผลให้ประเทศเดินไปในทิศทางใด แต่เราก็เห็นคล้ายพี่เจ้ยว่าน่าจะดีถ้าทุกคนได้ร่วมแสดงพลังครั้งนี้ แต่ไม่ว่าจะกากบาทช่องไหน หรือจะไปที่คูหาหรือไม่ ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละคน เพียงแค่ว่าคงจะดีถ้าทุกคนเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีแล้ว ก่อนจะตัดสินใจคืนความสุขที่แท้จริงให้กับประเทศไทย

http://goo.gl/CO2eWL
( อ่านร่างรัฐธรรมนูญ 2559 )

https://goo.gl/zVoU5M
( อ่านแบบเข้าใจง่ายกับ “ดีเบต ข้อดี-ข้อเสีย ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ” จากเพจ iLaw )

 


แก้วตา
06.08.16