โอเปร่า The Diary of Anne Frank (2016)

 

โอเปร่า The Diary of Anne Frank 
โดย มูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพ (Opera Siam)

 

ช่วงวันที่ 20 – 21 เมษายนที่ผ่านมามูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพ (Opera Siam) ได้จัดแสดงโอเปร่าเรื่อง The Diary of Anne Frank รอบปฐมทัศน์ที่ไทยให้ได้ชมกันแบบฟรีๆ ที่ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ด้วยความที่สนใจเรื่องราวของ แอนน์ แฟรงค์ อยู่แล้ว เราเลยไม่พลาดที่จะไปชม


บทโอเปร่า The Diary of Anne Frank เป็น Monodrama ที่แสดงคนเดียวทั้งเรื่อง สร้างสรรค์โดยนักประพันธ์ชาวรัสเซีย Grigory Frid ในปี 1968 และออกแสดงครั้งแรกในปี 1972 โดยแบ่งเป็น 21 ฉาก ใช้สำหรับนักร้องเสียงโซปราโนและวง Chamber Orchestra (วงขนาดเล็ก) สำหรับเวอร์ชั่นที่แสดงในไทยนี้กำกับโดยนักประพันธ์เพลงคลาสสิกฝีมือดี สมเถา สุจริตกุล และคัดเลือกมาแสดง 6 ฉาก คือ Birthday, School, Conversation with Father, Summons to the Gestapo, The Hiding Place และ Razzia

 

ก่อนหน้านี้เราเคยดูโอเปร่ามาบ้างแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ดูโอเปร่าแบบ Monodrama และเป็นโอเปร่าสเกลเล็ก เลยทำให้รู้สึกแปลกใหม่ในระดับนึง แต่ก็ไม่รู้สึกประทับใจเรื่องนี้เท่าที่ควร อาจเป็นเพราะจุดที่นั่งไม่ดีเลยทำให้ไม่เข้าใจว่าฉากผนัง 4 ฉากที่มีคนเลื่อนไปเลื่อนมาตลอดนั้นต้องการสื่ออะไร (พยายามเปลี่ยนที่นั่งหลังพักครึ่งแล้ว แต่ก็ไม่ค่อยช่วยอะไร) รวมถึงความคาดหวังส่วนตัวที่มีต่อตัวละคร แอนน์ แฟรงค์ ซึ่งเราอ่านไดอารี่เธอแล้วรู้สึกว่า แอนน์เป็นคนร่าเริงแต่ก็มีความเป็นผู้ใหญ่ นิ่ง ไม่เกรี้ยวกราดตลอดเวลา แต่นักร้องโซปราโนเสียงดีชาวอเมริกัน Kaleigh Rae Gamache อาจตีความไปอีกทางนึง หรือตอนที่เลือกมาอาจทำให้เธอต้องแสดงไปในทิศทางนั้น เลยทำให้เราไม่จดจ่อและไม่เอาใจช่วยกับตัวละครนี้ (อาจรวมถึงทรงผมและเครื่องแต่งกายของนักแสดงที่ไม่ตรงกับภาพจำ แอนน์ แฟรงค์ เท่าไหร่) ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องดีเพราะเธอแบกรับการแสดงไว้อยู่คนเดียวทั้งเรื่อง

 

นอกจากนั้นเรายังรู้สึกได้ว่าผู้สร้างพยายามเพิ่มองค์ประกอบต่างๆ ให้คนไทยดูง่ายขึ้น เช่น มีตัวละครที่เกี่ยวข้องขึ้นมาร่วมเวที (แต่ไม่มีบทพูดหรือร้องอะไร) ซึ่งก็ทำให้ผู้ชมเห็นภาพชัดเจนขึ้น ไม่ต้องอาศัยการฟังเพลงอย่างเดียว แต่เราไม่ค่อยปลื้มกับการใส่บทหญิงสาวนั่งอ่านไดอารี่เข้ามาในตอนเปิดเรื่อง เพราะในรอบที่เราไปดู ผู้แสดงยังอ่านผิดๆ ถูกๆ พูดไม่ชัด และไม่สื่ออารมณ์ใดๆ อีกด้วย


สำหรับด้านดนตรีแม้มีนักดนตรีเพียง 9 คน รวมถึงวาทยกรจากสิงคโปร์ Adrian Tan แต่ก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างดาร์กและเร้าอารมณ์ โดยเน้นเสียงเครื่องสายและเครื่องเป่าลม


นี่อาจไม่ใช่โอเปร่าที่ดีที่สุดจาก Opera Siam เมื่อเทียบกับผลงานสเกลใหญ่หลายเรื่องก่อนหน้าซึ่งจัดแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แต่ก็เป็นเรื่องที่มีประเด็นน่าสนใจ และทำได้เหมาะสมกับพื้นที่ซึ่งมีอยู่จำกัด จึงไม่แปลกใจที่จะดึงดูดผู้ชมหน้าใหม่ให้เข้ามาเปิดใจชมศิลปะการแสดงที่หลายคนมองว่าเป็นยาขมได้มากขึ้น

 


แก้วตา 
23.04.16