สัตว์มนุษย์ (Humanimal)

‘สัตว์มนุษย์’ เป็นผลงานที่สร้างสรรค์โดย ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ซึ่งเชื้อเชิญให้ผู้ชมได้เข้าไปสำรวจความเป็น ‘สัตว์’ และความเป็น ‘มนุษย์’ ของศิลปินรับเชิญที่มาจากหลากหลายวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง นักร้อง นักเขียน และนักบำบัด ทั้งหมด 17 คน รวมทั้งตัวดุจดาวเองด้วย ที่มารับบทเป็น ‘ผู้แสดง’ ถึง 2 ครั้ง

เราเลือกดู 2 รอบ ประเดิมด้วยรอบที่ดุจดาวถูก ‘ปลดอาวุธ’ ซึ่งเป็นการพลิกบทบาทจากรอบปกติที่ดุจดาวมักจะเป็นผู้ถามคำถามแขกรับเชิญ โดยวันนั้น (24 มี.ค. 62) ดุจดาวในชุดสีขาวล้วนเดินเข้า ‘พื้นที่ทดลอง’ ซึ่งเป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีขาว ภายในมีเก้าอี้ใส โต๊ะใสที่วางอาหารไว้ด้านบน และกล่องกระดาษ ผนังทั้งสามด้านของห้องปิดทึบ เว้นแต่อีกด้านที่ติดตั้งกระจกใสให้ผู้ชมสามารถมองเห็นคนที่อยู่ข้างในได้ โดยมีทัศยา เรืองศรี นักจิตบำบัด และทีมงาน นั่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของห้องนั้น

กระบวนการ ‘ปลดอาวุธ’ เริ่มด้วยการให้ ‘ผู้ถูกทดลอง’ ตอบคำถามที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง ตามด้วยการตอบคำถามอย่างประดิษฐ์ การให้ผ่อนคลายเหมือนอยู่บ้านด้วยการกิน การตอบคำถามให้จบก่อนกระพริบตา โดยคำถามมีตั้งแต่เรื่องทั่วไป เรื่องสังคม วัฒนธรรม การเมือง ชีวิต ครอบครัว ความรัก บาดแผล ปมในใจ ฯลฯ ก่อนที่ผู้ถามจะขอให้ผู้ถูกทดลองปลดปล่อย ‘สัตว์’ ในตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ หลังจากนั้นผู้ถูกทดลองก็จะเก็บ ‘สัตว์’ กลับเข้าไปในตัวเอง และสรุปสิ่งที่ได้จากการปลดอาวุธครั้งนี้ โดยตลอดกระบวนการจะมีเพียงผู้ถามเท่านั้นที่ได้ยินคำตอบ

แม้จะไม่ได้ยินเสียงของผู้ถูกทดลอง และมีเสียงดนตรีแทรกเป็นช่วงๆ แต่ผู้ชมสามารถตีความคำตอบได้จากการอ่านปาก รวมถึงการใช้ภาษากายของคนที่อยู่ภายในห้องสีขาวนั้น ซึ่งสีภายในห้องจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอด ด้วยความเป็นนักแสดงที่เชี่ยวชาญการใช้ภาษากายเป็นเครื่องมือ ดุจดาวถ่ายทอดความรู้สึกผ่านสีหน้าและร่างกายได้เป็นอย่างดี ทั้งความเจ็บปวด ความสับสน ความเศร้า ความเปราะบาง แต่บางครั้งก็แอบรู้สึกว่ามันสวยงามและดูมีฟอร์มบางอย่างอยู่ จนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าดุจดาวได้ปลดอาวุธตัวเอง 100% รึเปล่า เพราะการเป็นนักแสดงที่ต้องปลดเปลื้องตัวเองต่อหน้าผู้ชมอยู่เสมอ อาจมีส่วนช่วยให้สามารถจัดระเบียบสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจได้บ้าง รวมถึงการเป็นคนคิดคำถามและกระบวนการนี้เอง จึงอาจมีการเตรียมกลไกป้องกันตัวเองมาในระดับนึงแล้วรึเปล่า

ขณะที่การดูรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ดุจดาวได้กลับมาสวมบทบาทเป็นผู้ตั้งคำถาม โดยมีนักเขียนซีไรต์ อุทิศ เหมะมูล อยู่อีกฝั่งของห้องกระจก ซึ่งการสำรวจ ‘สัตว์มนุษย์’ ในรอบนี้น่าตื่นเต้นมาก เพราะอุทิศที่สวมชุดดำทั้งตัว พร้อมสวมแว่นกันแดด ช่างมีความขบถแฝงความกวน ชวนให้ยิ้มและหัวเราะกับคำตอบที่ไม่ได้ยินไปหลายช่วง แต่พอถึงจุดที่ต้องลดเกราะกำบังลงมา อุทิศก็ดูดำดิ่ง เปราะบาง อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และเมื่อมองไปทางฝั่งดุจดาวก็เห็นว่าเธอกำลังเจ็บปวดกับเรื่องที่ได้ยินไม่น้อย จากสีหน้าและการนำมือไปวางไว้บริเวณหัวใจของเธอ

ในฐานะ ‘ผู้ปลดอาวุธ’ ดุจดาวจะคอยอธิบายอากัปกิริยาของผู้ถูกทดลอง ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสส่วนใดของร่างกาย หรือท่าทางที่กระทำอย่างไม่รู้ตัว โดยผู้ปลดอาวุธจะควบคุมกล้องให้โฟกัสไปที่จุดนั้น ซึ่งผู้ชมจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากจอเหนือตู้กระจก โดยจอฝั่งซ้ายจะเป็นคำบรรยายภาษาอังกฤษ นอกจากนั้น ผู้ปลดอาวุธยังได้พูดสรุปคำตอบของคนในห้องนั้นอีกด้วย ซึ่งในรอบที่ดุจดาวเป็นผู้ปลดอาวุธเอง เรารู้สึกว่าการสังเกตปฏิกิริยาโต้ตอบระหว่างบุคคลทั้ง 2 ดูจะเพลิดเพลินและไหลลื่นเป็นอย่างดี

พอดูจบแล้วก็อดที่จะรู้สึกทึ่งกับความเป็น ‘มนุษย์’ ไม่ได้ เพราะเราถูกหล่อหลอมมาแตกต่างกัน ทั้งความเชื่อ ทัศนคติ สังคม รวมถึงประสบปัญหาชีวิตที่ต่างกัน จึงทำให้มีกลไกป้องกันตัวเองแตกต่างกันไปในการกลบสัญชาติญาณดิบ ความรู้สึกที่แท้จริง รวมถึงความต้องการที่จะสื่อสารอย่างแท้จริง เพราะไม่อยากถูกคนอื่นตัดสินว่าเป็น ‘สัตว์’ ที่ไร้ความสามารถในการควบคุมตัวเอง ทำให้หลายครั้งคนเราก็เลือกที่จะตั้งกำแพงคุ้มกันตัวเองในการเข้าหาผู้อื่น และปล่อยให้คนที่ไว้ใจไม่กี่คนเท่านั้นผ่านกำแพงนั้นเข้ามารับรู้ตัวตนที่แท้จริงของเรา ซึ่งการที่ได้เห็นคนยอมปลดเปลื้องตัวเอง ลดกำแพง ปลดอาวุธ ให้เราได้เห็นนั้น ถือเป็นสิ่งที่งดงามมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นด้านมืดหรือด้านสว่าง แต่นี่ก็คือเนื้อแท้ของแต่ละคนที่เป็นเอกลักษณ์และมีเสน่ห์ ยากที่จะมีใครมาลอกเลียนได้

‘สัตว์มนุษย์’ ได้นำเสี้ยวหนึ่งของความเป็นคนมาปลดเปลื้องให้เราได้สังเกต ผ่านคำถาม และคำตอบที่ไม่ได้ยิน โดยที่ยังโอบอุ้มความรู้สึกของผู้ถูกปลดเปลื้องอยู่ตลอด ซึ่งระหว่างกระบวนการนั้น เราก็อดไม่ได้ที่จะสำรวจตัวเอง พร้อมตั้งคำถามว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐหรือสัตว์ประดิษฐ์”

การแสดง ‘สัตว์มนุษย์’ ได้ชื่อมาจากนิยายในชื่อเดียวกัน ซึ่งเขียนโดยปู่ของดุจดาว (พ.ต.อ. ลิขิต วัฒนปกรณ์) และตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2519 โดยการแสดงนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ‘ประเทศเล็กที่สมบูรณ์’ ของประทีป สุธาทองไทย ที่จัดแสดงภาพวาดของปกหนังสือที่มีส่วนหล่อหลอมภาพจำของภาคอีสาน และงานวิดีโอที่สะท้อนความเป็นอีสานในปัจจุบัน