มิวสิคัล ‘Hamilton’ ทำสถิติ – ชิง ‘โทนี่’ 16 สาขา

 

ในแต่ละปีงานประกาศรางวัลใหญ่ที่คนในแวดวงละครเวทีเฝ้ารอคงหนีไม่พ้น ‘โอลิวิเย่ร์ อวอร์ด’ ของฝั่งเวสต์เอนด์ อังกฤษ และ ‘โทนี่ อวอร์ด’ ของฝั่งบรอดเวย์ อเมริกา โดยปีนี้ฟากเวสต์เอนด์ก็ได้ประกาศผลไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน ขณะที่ฝั่งบรอดเวย์เพิ่งประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงมาสดๆ ร้อนๆ ซึ่งมิวสิคัล ‘Hamilton (แฮมิลตัน)’ ทำสถิติเข้าชิงรางวัลโทนี่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 16 สาขา เอาชนะ ‘Billy Elliot (บิลลี่ เอลเลียต)’ และ ‘The Producers (เดอะ โปรดิวเซอร์)’ ที่เคยเข้าชิง 15 สาขาในปี 2009 และ 2011 ตามลำดับ

 

โดยรางวัลที่ ‘Hamilton’ ได้เข้าชิงก็คือ มิวสิคัลยอดเยี่ยม บทมิวสิคัลยอดเยี่ยม เพลงดั้งเดิมยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายในมิวสิคัลยอดเยี่ยม(2 คน) นักแสดงนำหญิงในมิวสิคัลยอดเยี่ยม นักแสดงประกอบชายในมิวสิคัลยอดเยี่ยม(3 คน) นักแสดงประกอบหญิงในมิวสิคัลยอดเยี่ยม ออกแบบฉากมิวสิคัลยอดเยี่ยม ออกแบบเครื่องแต่งกายมิวสิคัลยอดเยี่ยม ออกแบบแสงมิวสิคัลยอดเยี่ยม กำกับมิวสิคัลยอดเยี่ยม ออกแบบท่าเต้นมิวสิคัลยอดเยี่ยม และวงออร์เคสตรายอดเยี่ยม

 

จริงๆ แล้วการที่ ‘Hamilton’ ได้เข้าชิงรางวัลเยอะขนาดนี้ก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไร เพราะกระแสมิวสิคัลเรื่องนี้มาแรงตั้งแต่ตอนเป็น Off Broadway (ออฟบรอดเวย์ – ละครโปรดักชั่นเล็กกว่าบรอดเวย์ ซึ่งถ้าเจ๋งจริง ก็จะมีโอกาสได้เข้าสู่โรงละครบรอดเวย์ต่อไป) แถมเพิ่งคว้ารางวัลพูลิตเซอร์ประจำปี 2016 ในสาขาละคร เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นมิวสิคัลเรื่องที่ 9 ที่สามารถคว้ารางวัลนี้มาครองได้สำเร็จ แถมก่อนหน้านี้ก็กวาดรางวัลแกรมมี่มาแล้วเช่นกัน ในสาขาอัลบั้มเพลงมิวสิคัลยอดเยี่ยม

 

‘Hamilton’ เป็นมิวสิคัลที่สร้างสรรค์ในปี 2015 โดยเป็นละครออฟบรอดเวย์ก่อนจะก้าวสู่เวทีบรอดเวย์ในปีเดียวกัน ซึ่งผู้กำกับ ‘Lin-Manuel Miranda (ลิน-มานูเอล มิแรนดา)’ หลังจากประสบความสำเร็จจากมิวสิคัลเรื่อง ‘In the Heights’ ก็ได้ดัดแปลงเรื่องราวจากหนังสือชีวประวัติ ‘Alexander Hamilton (อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน)’ หนึ่งในกลุ่มบิดาผู้ก่อตั้งอเมริกา ที่เขียนโดยนักเขียนพูลิตเซอร์ ‘Ron Chernow (รอน เชอร์นาว)’ มาเป็นมิวสิคัลแนวฮิปฮอป!

 

ต้องบอกว่า ‘มิแรนดา’ นี่กล้าและครีเอทมากๆ ที่นำเรื่องราวของบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์อเมริกามาตีความใหม่ โดยมอบหมายบทสำคัญอย่างผู้ก่อตั้งประเทศให้กับนักแสดงผู้มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ทั้งคนที่มีเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน รวมถึงลาตินอเมริกัน ซึ่งบางคนมองว่าเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศและไม่มีเกียรติเท่าคนผิวขาว (มิแรนดา ที่มีเชื้อสายฮิสแปนิกก็มาแสดงเป็น แฮมิลตัน เองเลยทีเดียว) โดยการเปลี่ยนโฉมกลุ่มบิดาผู้ก่อตั้งอเมริกา (Founding Fathers) จากภาพจำที่คุ้นเคยครั้งนี้ ก็น่าจะช่วยทลายอคติหรือการเหยียดได้บ้าง

 

สำหรับงานประกาศผลรางวัลโทนี่ อวอร์ด ครั้งที่ 70 จะจัดขึ้นในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ ที่ Beacon Theatre นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก็ต้องมาลุ้นกันต่อไปว่า ‘Hamilton’ จะกวาดรางวัลไปได้กี่สาขา ซึ่งอีกเรื่องที่น่าลุ้นก็คือ มีข่าวว่าผู้อำนวยการสร้างละครเวทีของอังกฤษอย่าง เซอร์คาเมรอน แมคอินทอช (Cameron Mackintosh) ก็เล็งๆ จะซื้อลิขสิทธิ์มิวสิคัลฮิตเรื่องนี้มาแสดงในฝั่งเวสต์เอนด์อีกด้วย

 

สำหรับในไทยนั้นโอกาสดู ‘Hamilton’ อาจจะยากเสียหน่อย แต่เราก็หวังว่าละครเวที/มิวสิคัลบ้านเราจะสามารถสะท้อนเรื่องราวและมุมมองเชิงประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากที่เคยเห็นและถูกสอนตามตำราได้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องอาศัยทั้งความกล้าของคนทำ คนสร้าง การเปิดใจของคนดู รวมถึงการทำความเข้าใจอย่างแท้จริงว่าละครเวทีคือศิลปะแขนงหนึ่งที่เปิดกว้างสำหรับการตีความ และไม่ควรถูกจำกัดกรอบการสร้างสรรค์อย่างที่คนในแวดวงศิลปะไทยต้องเผชิญในปัจจุบัน

 

แก้วตา
03.05.16