นี่คือสถานแห่งภาพข้างหลัง (2016)

 

นี่คือสถานแห่งภาพข้างหลัง  
กำกับโดย ปานรัตน กริชชาญชัย

“นี่คือสถานแห่งภาพข้างหลัง” เป็นผลงานกำกับเรื่องล่าสุดของ อิ๋ว-ปานรัตน ที่ผู้ชมเชื่อใจได้ว่าสนุกแน่ๆ การันตีจากผลงานเรื่องก่อนๆ ที่ตัวละครมักมีบทสนทนาฮาๆ มาฟาดฟันกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นอย่างนั้น และยังแฝงประเด็นทางสังคมไว้ให้ไปคิดต่อกันอีกด้วย


เรื่องราวเกิดขึ้นที่บ้านสวนกลางป่าสนซีดาร์ ซึ่งมีพี่น้องรุ่นใหญ่อาศัยอยู่คือ ชายกลาง และ(คุณ)หญิงกีรติ ทั้งคู่มักประชันคารมกันอยู่เสมอ แต่ก็ได้ นมทิพย์ แม่นมผู้เสพติดการดูดวงเป็นผู้คอยไกล่เกลี่ยดูแล อยู่มาวันนึงน้องเล็กสุดท้องอย่าง พจมาน ก็กลับมาบ้านหลังจากไปเป็นดาวโดดเด่นบนฟากฟ้า เอ้ย ในเมืองกรุง ซึ่งงานนี้ก็เปิดตัว เรน สามีคนใหม่ที่เป็นนักร้องมาแรงซึ่งมีอายุห่างกัน 20 กว่าปี ก่อนจะมีเรื่องวุ่นๆ ตามมาอีกเมื่อ ตุ๋ย-มนฤดี เด็กสาววัยแบ๊วข้างบ้านที่เป็นติ่งดาราเข้ามาป่วน


สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องคือเราจะได้เห็นตัวละครที่ชื่อเหมือนพระเอกนางเอกจากวรรณกรรมขึ้นหิ้งอย่าง ข้างหลังภาพ และบ้านทรายทอง ถูกนำมาดัดแปลงจนแทบลืมภาพจำเดิมของตัวละครนั้นๆ ไป เช่น ชายกลาง ที่ดูเป็นผู้ชายที่แสนจะเพอร์เฟกต์ก็ถูกปรับให้มีความหลากหลาย แอบรั่ว แต่ก็ยังคงความเก๊ก ความแอ็คอยู่ ส่วนคุณหญิงกีรติผู้สูงศักดิ์ มีความงดงามเป็นผู้ใหญ่ วางตัวดี อิ่มใจที่มีคนที่ฉันรัก มาเวอร์ชั่นนี้เธอพลิกบทอย่างแรง เพราะนอกจากจะไม่ได้มีรูปร่างงามระหงแล้ว เธอยังอารมณ์แปรปรวน ชอบเผลอพูดคำหยาบ แถมไม่ได้รักใครและไม่มีใครมารักอีกต่างหาก ในขณะที่พจมานแห่งบ้านทรายทองก็ยังคงเป็นหญิงแกร่งอยู่เพราะต้องหาเลี้ยงครอบครัวด้วยตัวคนเดียว แต่เธอก็ดูเหมือนจะมีปมเรื่องครอบครัวที่ไม่อยากให้ใครรู้ จนต้องมีคนรักมาทดแทนส่วนที่ขาดหายไป


ตัวละครทั้งหมดดูเหมือนจะพยายามทำตัวเองให้อยู่ในกรอบชีวิตที่วางไว้และดำเนินไปตามชะตากรรมของตัวละครที่พ่อแม่นำมาตั้งชื่อ โดยไม่รู้และไม่สนใจความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง ซึ่งดูแล้วก็ไม่ต่างกับการหมกมุ่นอ่านคำทำนายดวงและงมงายทึกทักไปเองว่าจะเกิดสิ่งเลวร้ายกับชีวิต หรือตัดสินว่าคนอื่นเป็นกาลกิณี โดยที่ไม่พยายามทำความรู้จักกันเสียก่อน


ด้วยความเชื่อที่ปราศจากเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้เกิดการปะทะกันได้ง่าย เพราะไม่มีใครพร้อมฟังคนอื่นอย่างแท้จริง


การปะทะกันระหว่างโลกยุคเก่า สโลว์ไลฟ์ ต้องอดทน ยอมเอาลิ้นเลียสแตมป์ กว่าจะมีแฟนแต่ละทีก็ไม่รู้ต้องใช้เวลาไปกี่ล้านปีแสง กับโลกยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีทำให้ชีวิตง่ายขึ้น เร็วขึ้น รู้จักกันได้เพียงแค่ทักแชทไป แถมจะเลิกกันได้ภายในไม่กี่วินาที


สุดท้ายแล้วการยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่ตัวเองคิดหรือคุ้นชินเป็นสิ่งที่ดีที่สุดก็ไม่อาจช่วยแก้ไขปัญหาใดได้ และอาจทำให้น้อยใจว่าไม่มีใครเข้าใจตัวเอง แต่ถ้าลองถอยออกมาก้าวหนึ่งแล้วมองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเปิดใจ ปราศจากอคติ ก็จะทำให้เข้าใจความแตกต่างของคนได้มากขึ้น และเมื่อทุกฝ่ายเปิดใจรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน พยายามปรับตัวเข้าหากัน ปรับรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็น่าจะช่วยคลี่คลายปัญหาในปัจจุบันได้บ้าง เพื่อรักษาบ้านสวนกลางป่าสนซีดาร์ให้คงอยู่ต่อไป (อยู่คู่กับน้องเงินน้องทองที่น่ารัก)


นอกจากฉากสวย แสงงาม และดนตรีดี นักแสดงของเรื่องยังพีคๆ กันทุกคนและเล่นเข้าขาพากันฮาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสามดาวเด่นอย่าง หวัด-ศุภสวัสดิ์ เบิร์ด-นีลชา และแหม่ม-ปริยา ที่มีพลังล้นเหลือ เล่นถึงทั้งพาร์ทตลกที่ทำเอาน้ำตาไหล และพาร์ทเศร้าที่ทำให้อินตามได้ไม่ยาก ส่วนนักแสดงรุ่นเยาว์ลงมาก็เล่นได้ดี ชอบความกล้าเล่นของเรน(จิรกิตติ์) ความเป็นป้าแซ่บๆ ของนมทิพย์(ดลฤดี) และรู้สึกว่าณิชาถ่ายทอดบทตุ๋ยออกมาได้มีมิติดี เพราะถึงแม้ตัวละครจะทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง แต่คนดูก็คงเกลียดไม่ลง


“นี่คือสถานแห่งภาพข้างหลัง” ดัดแปลงมาจากบทละครตลกปี 2012 เรื่อง “Vanya and Sonia and Masha and Spike” ที่แต่งโดยนักเขียนแนวแอบเสิร์ดชาวอเมริกัน Christopher Durang ซึ่งการแสดงนี้จัดถึง 25 ก.ค. นี้ที่โรงมหรสพทองหล่อ (Thong Lor Art Space Bangkok) ติดตามรายละเอียดได้ที่ www.facebook.com/events/272526943137269/

 

แก้วตา
14.07.16