นิทรรศการ ดอกฟ้าในมือมาร (ภาพ) การเดินทางของอภิชาติพงศ์


ก่อนที่ ‘อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล’ จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับไทยคนแรกที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์เมื่อปี 2553 ได้สำเร็จจากเรื่อง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ เส้นทางการทำภาพยนตร์ของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์นั้นน่าสนใจไม่น้อย ด้วยมุมมองที่โดดเด่นและแนวคิดที่หลุดกรอบ รวมถึงความกล้าที่จะทดลองเทคนิคการเล่าเรื่องแบบแปลกใหม่มาโดยตลอด

หนึ่งในภาพยนตร์ที่ควรค่าแก่การศึกษาคือ ‘ดอกฟ้าในมือมาร (Mysterious Object at Noon)’ ผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของอภิชาติพงศ์ที่ออกฉายในปี 2543 หรือ 3 ปีหลังจากที่เขาจบการศึกษาในระดับปริญญาโทจากสถาบันศิลปะชิคาโก สหรัฐอเมริกา (School of the Art Institute of Chicago) โดยอภิชาติพงศ์จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีมาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้อภิชาติพงศ์ถ่ายทำด้วยฟิล์มขาวดำขนาด 16 มม. พร้อมใช้เทคนิค ‘Exquisite corpse’ ที่ไม่มีการเขียนบทภาพยนตร์ขึ้นมาก่อน แต่ให้ชาวบ้านที่พบเจอตลอดการเดินทางจากภาคเหนือ ไปยังภาคอีสาน และภาคใต้ ผลัดกันเล่าเรื่องต่อกันไปเรื่อย ๆ แล้วนำเรื่องราวนั้นมาสร้างสรรค์เป็นภาพยนตร์ โดยตัดสลับพาร์ตเรื่องเล่ากับสารคดีการเดินทางให้ซ้อนทับกันไปมา

โดยสรุปแล้ว ‘ดอกฟ้าในมือมาร’ เล่าถึงชีวิตของ ‘ครูดอกฟ้า’ กับลูกศิษย์พิการที่เธอไปสอนพิเศษที่บ้าน แต่ระหว่างทางนั้นก็จะมีเรื่องราวมหัศจรรย์เหนือจริงขึ้นมากมาย ซึ่งเรื่องราวที่ยากจะคาดเดานี้ถูกใจนักดูหนังและนักวิจารณ์ในต่างแดน จนได้ไปฉายในหลายเทศกาล และสามารถคว้ารางวัลสารคดียอดเยี่ยมอันดับที่ 2 จากเทศกาลยามางาตะ ประเทศญี่ปุ่น

‘ดอกฟ้าในมือมาร’ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในเส้นทางการทำหนังของอภิชาติพงศ์ เพราะทำให้เห็นลายเซ็นในการทำหนังที่ชัดเจนของเขา ทั้งการเล่าเรื่องไปอย่างเชื่องช้า คล้ายกับจังหวะจริงในชีวิตมนุษย์ (Slow cinema) หรือประเด็นที่สนใจและถูกนำมาใส่ในภาพยนตร์เรื่องถัดไป ไม่ว่าจะเป็นการมีตัวละครอยู่ในวงการแพทย์ ความป่วยไข้ของมนุษย์ ป่า แรงงานต่างชาติ ประเด็นทางการเมือง รวมถึงความหลากหลายทางเพศ นอกจากนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นการรวมตัวของคนทำหนังฝีมือดีในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึง ‘สยมภู มุกดีพร้อม’ ช่างภาพคู่ใจของอภิชาติพงศ์อีกด้วย (ปัจจุบัน สยมภูเป็นช่างภาพมือรางวัลจากเรื่อง ‘Call Me By Your Name (2017)’ และ ‘Suspiria (2018)’)

โดยตอนนี้มีการจัดนิทรรศการ ‘ดอกฟ้าในมือมาร (ภาพ) การเดินทางของอภิชาติพงศ์’ ที่ #หอศิลป์แนมสุวรรณแพทย์ ซึ่งเป็นห้องแสดงงานขนาดเล็กบนชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย ในหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ที่ศาลายา ซึ่งจัดแสดงภาพถ่ายมากมายที่แสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นในการทำภาพยนตร์ของผู้กำกับวัย 30 ปีคนหนึ่ง ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์ภาพยนตร์ในแบบที่ตัวเองเชื่อมาเกือบ 20 ปี ซึ่งภาพทั้งหมดนี้ อภิชาติพงศ์ได้มอบให้หอภาพยนตร์อนุรักษ์ไว้ ถ้าหากจะให้คุ้ม ก็ควรแวะเข้าชมพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยด้วยเช่นกัน เพราะมีการจัดแสดงรางวัลปาล์มทองคำ อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการถ่ายทำภาพยนตร์รางวัลเรื่อง ‘สุดเสน่หา (2545)’ ‘สัตว์ประหลาด (2547)!’ ‘แสงศตวรรษ (2549)’ ‘‘ลุงบุญมีระลึกชาติ (2553)’ ซึ่งรวมถึงกล้องถ่ายภาพยนตร์ฟิล์มยี่ห้อ Eclair รุ่น ACL ที่ใช้ในการถ่ายทำ ‘ดอกฟ้าในมือมาร’ อีกด้วย

สำหรับเราแล้ว ‘ดอกฟ้าในมือมาร’ เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของอภิชาติพงศ์ที่ได้ดู ซึ่งตอนนั้นเพิ่งเข้าเรียนปริญญาตรี ปี 1 และมีรุ่นพี่จัดฉายหนังในช่วงเย็นหลังเลิกเรียนที่คณะ เราเห็นว่าแปลกดีเลยเข้าไปลองดูว่าเป็นอย่างไร สรุปคือตอนนั้นก็หลับเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ทำให้เปิดโลกมากมายว่าบนโลกนี้ยังมีการเล่าเรื่องราวในแนวทางอื่นผ่านศาสตร์ภาพยนตร์อีกด้วย ก็ต้องขอขอบคุณรุ่นพี่คนนั้นที่กล้านำหนังแปลก ๆ มาฉายให้ชมถึงในคณะ ซึ่งก็คือคือ เต๋อ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ นั่นเอง ที่ช่วยทำให้เราสนใจโลกภาพยนตร์ที่แตกต่างอีกมากมาย 🙂